สแตนชาร์ต คงจีดีพีโต 3.3% เกาะติดโอมิครอน-ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและโลก

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 โต 3.3% จับตา 4 ปัจจัย “โอมิครอน-ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐ-ท่องเที่ยว-การเมือง” สร้างความผันผวนเศรษฐกิจไทย-เงินทุนเคลื่อนย้าย คาดไทยคงดอกเบี้ย 0.50% ต่อปีตลอดปี 65 ลุ้นนักท่องเที่ยวเข้าไทย 5-10 ล้านคน ดันดุลบัญชีเดินสะพัดสมดุล ลั่นพร้อมทบทวนจีดีพีไตรมาส 2

วันที่ 14 มกราคม 2565 ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) หรือ SCBT กล่าวว่า ธนาคารยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2565 อยู่ที่ 3.3% โดยจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งภายในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องปัจจัยการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จำนวนนักท่องเที่ยว ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2566

ทั้งนี้ ในส่วนของปัจจัยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ธนาคารมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ภายในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2565 จากระกับ 0.25% ต่อปี มาอยู่ที่ 0.75% ต่อปี ซึ่งทำให้ดอกเบี้นสหรัฐฯ สูงกว่าดอกเบี้ยไทย ทำให้ตลาดมีความกังวลว่าหากดอกเบี้ยไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ จะก่อให้เกิดความผันผวนต่อทิศทางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์)

อย่างไรก็ดี ธนาคารประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปีนี้อยู่ที่ 0.50% และจทยอยปรับขึ้นในช่วงปลายปี 2566 จำนวน 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ แม้ว่าจะขยับเพิ่มขึ้น แต่ยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% และยังมีเสถียรภาพในเรื่องของราคาตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สื่อสารออกมา โดยในส่วนของธนาคารประมาณการอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% ในปีนี้ และปีหน้าอยู่ที่ 3% ยังคงอยู่ในกรอบ

“เราคิดว่าไทยยังคงดอกเบี้ยไปก่อน 0.50% และค่อยขยับขึ้นปลายปี 66 เพราะเรายังคงต้องการกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แต่คงดอกเบี้ยไม่นานหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้เกินส่วนต่างมากนัก หากเราดูดอกเบี้ยไทยในอดีตจะอยู่สูงกว่าเฟด เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดเราแข็งแรง ท่องเที่ยวแข็งแรง มีเงินไหลเข้ามาจำนวนมาก และมี Buffer ให้เราสามารถทนทานดอกเบี้ยต่ำกว่าสหรัฐฯ ได้ แต่วันนี้ไม่ใช่ ดุลบัญชีเดินสะพัดไม่แข็งแรง โอกาสเห็นฟันด์โฟลว์ไหลออกได้”

สำหรับในแง่ดุลบัญชีเดินสะพัด จะเห็นว่าในอดีตที่ผ่านมาไทยเกินดุลฯ กว่าระดับ 3 หมื่นล้านดอลลาร์มาอย่างต่อเนื่อง และกลับมาขาดดุลฯ เมื่อปีก่อน หากไทยต้องการให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาสมดุล ไทยต้องการนักท่องเที่ยว ซึ่งจากการคำนวณไทยต้องการนักท่องเที่ยวในระดับ 5-10 ล้านคน ถือเป็นช่วงที่เห็นดุลบัญชีฯ จะสมดุลหรือเกินดุลได้ และหลังจากนั้นอีก 2-3 ปีจะเห็นนักท่องเที่ยวกลับมาอยู่ที่ 40 ล้านคน อย่างไรก็ดียังคงมีความไม่แน่นอนที่ต้องติดตาม

ขณะที่ทิศทางอัตราอัตราแลกเปลี่ยน มองว่า ในช่วงครึ่งปีแรกยังคงเห็นเงินบาทอยู่ในโซนอ่อนค่า และในช่วงครึ่งปีหลังจะทยอยแข็งค่าขึ้น โดยธนาคารประเมินว่า ในไตรมาสแรกเงินบาทน่าจะอยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ เพราะหลังจากเปิดปีใหม่เห็นเคลื่อนไหวที่ระดับ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ และในไตรมาส 2 มองเงินบาทค่อยๆ แข็งค่าขึ้นแตะในระดับ 33.25 บาทต่อดอลลาร์ แต่ระหว่างนั้นจะประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวอีกครั้ง หากกรณีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาในครึ่งปีหลัง น่าจะส่งผลบวกต่อเงินบาทให้อยู่ที่ระดับ 32บาทต่อดอลลาร์ได้ภายในสิ้นปีนี้

“เรามีมุมมองเป็นบวกต่อเศรษฐกิจไทยโดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะเติบโต 3.3% ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนรออยู่ โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามทุกไตรมาสตลอดทั้งปี เราจึงมีมุมมองระมัดระวังเรื่องเศรษฐกิจไทย ซึ่งตัวเลข 3.3% เราคาดการณ์มาตั้งแต่เดือนพ.ย.ช่วงก่อนการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน และแม้ซึ่งช่วงนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีแต่ยังไม่ชัดเจน เพราะการลงทุน การบริโภคภาคเอกชน และปัจจัยหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งอยู่”