ประธานเฟดยืนยันยังไม่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 10-14 มกราคม 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (10/1) ที่ระดับ 33.61/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/1) ที่ระดับ 33.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเทียบกับเงินสกุลหลัก เนื่องจากตลาดผิดหวังกับตัวเลขข้อมูลทางเศรษฐกิจสหรัฐที่ได้เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (7/1) กระทรวงแรงงานสหรัฐ รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 199,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 422,000 ตำแหน่ง แม้ว่าอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.9% ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดรอบ 22 เดือน โดยร่วงลงจาก 4.2% ในเดือน พ.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.1%

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าหลังจากตลาดยังคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงดำเนินตามแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) นอกจากนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นเหนือระดับ 1.76% ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ ต่อมาในช่วงกลางสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าภายหลังจากที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แสดงความเชื่อมั่นในระหว่างการแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันอังคาร (11/1) ว่า แผนการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินของเฟดในปีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน และเศรษฐกิจสหรัฐก็แข็งแกร่งพอที่จะทำให้เฟดไม่ต้องใช้มาตรการกระตุ้นขนานใหญ่อีกต่อไป

นายพาวเวลล์กล่าวต่อคณะกรรมาธิการฯว่า เขาคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถฝ่าฟันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนไปได้ และเชื่อว่าผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจนั้นจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งผลกระทบนี้จะไม่ทำให้แผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการปรับลดการถือครองสินทรัพย์ของเฟดในปีนี้ต้องสะดุดลง นอกจากนี้ นายพาวเวลล์ยังกล่าวว่า การรักษาเสถียรภาพด้านราคาถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการผลักดันเศรษฐกิจและการจ้างงานให้ขยายตัวได้ต่อไป พร้อมกับกล่าวว่าเฟดจะใช้ความพยายามในการสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ แม้จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้

สำหรับปัจจัยในประเทศ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในช่วงท้ายสัปดาห์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงแตะระดับ 1.71% จากการเทขายทำกำไรของนักลงทุน รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่พุ่งขึ้นถึง 7.0% ในเดือนธันวาคมเมื่อเทียบรายปี จากระดับ 6.8% ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี โดยข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ทำให้นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

โดยคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามกรอบเวลาเดิม หลังเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลายคนสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. เพื่อสกัดเงินเฟ้อ อาทิ นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโก, นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และนางแมรี ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก รวมถึงนางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นโดยได้รับอานิสงส์จากแรงเทขายดอลลาร์สหรัฐของนักลงทุน ขณะที่ระหว่างสัปดาห์ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ออกมาให้ความเห็นว่า สถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยระยะสั้นเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกขอปี’65 และเชื่อว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป

โดย กกร.จึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี’65 ไว้ตามเดิมที่โต 3-4.5% การส่งออกโต 3-5% เงินเฟ้อ 1.2.2% ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 46.2 ในเดือนธันวาคม จากระดับ 44.9 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 40.1 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ระดับ 42.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 55.7 โดยได้รับปัจจัยบวกจากการที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 7 มาตรการ และการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ

ขณะที่ปัจจัยลบยังคงเป็นความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนในประเทศ และค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.16-33.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (14/4) ที่ระดับ 33.20/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (10/1) ที่ระดับ 1.1355/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/1) ที่ระดับ 1.1316/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อของยูโรโซน ที่พุ่งขึ้นสู่ระดับ 5.0% ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่ยูโรสแตทเริ่มรวบรวมข้อมูลดังกล่าว

นอกจากนี้ดัชนี CPI ยังสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำหนดไว้อีกด้วย สำหรับยอดค้าปลีกในยูโรโซนนั้นเพิ่มขึ้นเกินคาดในเดือนพฤศจิกายน โดยเพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 7.8% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ยอดค้าปลีกลดลง 0.5% และเพิ่มขึ้น 5.6% ตามลำดับ และบริษัทเซ็นทิกซ์เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในยูโรโซนปรับขึ้นในเดือน ม.ค. ในขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนส่งอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาพุ่งสุงขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนยูโรโซนปรับขึ้นสู่ 14.9 ในเดือน ม.ค. จาก 13.5 ในเดือน ธ.ค. โดยตัวเลขของเดือน ม.ค.อยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 12.0

นอกจากนี้นางอิซาเบล ชนาเบล กรรมการธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า ราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นอาจทำให้อีซีบีต้องหยุดมองข้ามอัตราเงินเฟ้อสูง และต้องดำเนินการเพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นชั่วคราว โดยอัตราเงินเฟ้อพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 5% ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าเป้าหมาย 2% ของอีซีบีถึงกว่าสองเท่า แต่อีซีบีก็ยังไม่ได้คุมเข้มนโยบายจนถึงขณะนี้ โดยระบุว่า การเพิ่มขึ้นของราคาจะไม่ลดลงไปเอง

ขณะที่ปัจจัยชั่วคราวเป็นเหตุผลสำคัญสำหรับอัตราเงินเฟ้อสูง แต่ในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่ายังคงมีปัจจัยกดดันภายหลังจากที่บีจีเอ (BGA) ซึ่งเป็นสมาคมการค้าของเยอรมนีออกมาเตือนว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะห่วงโซ่อุปทานชะงักงันครั้งใหญ่ เนื่องจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อย่างไรก็ตาม BGA ระบุว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะไม่กินเวลายาวนาน อุตสาหกรรมในเยอรมนีได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไมโครชิปและชิ้นส่วนอื่น ๆ ในขณะยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ทะยานสูงขึ้นนั้นได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตของภาคค้าปลีกนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีค่าเงินยูโรยังได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) ของยูโรโซนที่ขยายตัว 2.3% ในเดือนพฤศจิกายน หลังจากที่หดตัว 1.3% ในเดือนก่อนหน้า และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียง 0.5% ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1280-1.1481 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/1) ที่ระดับ 1.1470/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ที่ (10/1) ที่ระดับ 115.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/1) ที่ระดับ 115.82/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ตลาดจับตาสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ในญี่ปุ่น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มบังคับใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดแล้วใน 3 จังหวัด (โอกินะวะ ฮิโรชิมะ ยะมะกุจิ) ที่เป็นแหล่งแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโอมิครอน

นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากการที่สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Index) ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันของญี่ปุ่นนั้น ปรับตัวขึ้นรวดเร็วที่สุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลในเดือนมกราคม 2528 เนื่องจากการผลิตยานยนต์มีการฟื้นตัว สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีดังกล่าวปรับตัวขึ้น 3.8 จุดจากเดือนตุลาคมสู่ระดับ 93.6 ในเดือนพฤศจิกายน โดยเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน เทียบกับฐานปี 2558 ที่ระดับ 100

โดยตลาดในสัปดาห์นี้แทบจะไม่ให้ความสนใจกับการประกาศจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในประเทศที่เพิ่มขึ้นเกินระดับ 10,000 รายในรอบกว่าสี่เดือนในวันพุธ (12/1) โดยทางกรุงโตเกียวพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,198 ราย เป็นตัวเลขที่เกินระดับสองพันในรอบสี่เดือนเช่นกัน และสูงกว่าที่ผ่านมาประมาณ 5 เท่า

ขณะที่จังหวัดโอซากาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 1,711 รายในวันเดียวพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,198 ราย เป็นตัวเลขที่เกินระดับสองพันในรอบสี่เดือนเช่นกัน และสูงกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาประมาณ 5 เท่า ขณะที่จังหวัดโอซากาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 1,711 รายในวันเดียวนับเป็นการเพิ่มขึ้นเหนือระดับหนึ่งพันรายเป็นครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.ปีที่แล้ว และเป็นการปรับเพิ่มจากสัปดาห์ก่อนเกือบ 7 เท่า

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เริ่มลดความสนใจต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลง และเปลี่ยนไปพิจารณาในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่าง ๆ แทน ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.62-115.80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (14.1) ที่ระดับ 113.70/74 เยน/ดอลาร์สหรัฐ