ดอลลาร์แข็งค่าหลังบอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่ง รับคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ย

ดอลลาร์แข็งค่าหลังบอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่งรับคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่แบงก์ชาติออกมาระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังเปราะบาง คาดการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนกระทบจีดีพีราว 0.3% ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 33.05/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 17 มกราคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/1) ที่ระดับ 33.21/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/1) ที่ระดับ 33.13/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.79% ขานรับการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม

ในส่วนของตัวเลขทางเศรษฐกิจนั้น ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธันวาคมของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี ทางด้านดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนธันวาคมของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่าปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานอาจเริ่มคลายตัวและอัตราเงินเฟ้ออาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

ในขณะเดียวกัน รายงานยอดค้าปลีกของสหรัฐในเดือนธันวาคมปรับตัวลดลงเกินกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ในระยะสั้นแรงซื้อและขายเงินดอลลาร์จะสะท้อนการปรับสถานะการลงทุนและปัจจัยทางด้านเทคนิคเป็นสำคัญ เพราะตลาดยังไม่แน่ใจว่าในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าเฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยไปสู่จุดสูงสุดของวัฏจักรที่ระดับ 2.5% ตามที่เคยประมาณการไว้ได้หรือไม่

สำหรับปัจจัยในประเทศผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังเปราะบาง โดยคาดว่าการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนจะกระทบจีดีพีราว 0.3% ขณะที่เศรษฐกิจจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดในไตรมาส 1/66 ขณะที่ ธปท.ไม่กังวลกับเงินเฟ้อในประเทศ

ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยและการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด รวมถึงธนาคารกลางชั้นนำของโลกจะมีผลต่อตลาดการเงิน แต่ผลต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมจะค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะถูกตรึงไว้ที่ระดับ 0.5% ตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.05-33.34 บาท/ดอลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.05/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (17/1) ที่ระดับ 1.1418/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/1) ที่ระดับ 1.1463/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากบอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นขานรับคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1400-1.1435 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1424/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/1) ที่ระดับ 114.47/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/1) ที่ระดับ 113.70/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากบอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นขานรับคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOI) ได้เปิดฉากการประชุมกำหนดนโยบายระยะเวลา 2 วันในวันนี้ เพื่อประเมินสัญญาณเริ่มต้นของเงินเฟ้อและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 114.13-114.54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.43/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือน ธ.ค. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย เดือน ม.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามจีดีพีไตรมาส 4/64 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือน ธ.ค. อาทิ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีกด้วยเช่นกัน


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.30/0.55 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.50/-2.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ