สิทธิของบริษัทประกัน “บอกเลิกกรมธรรม์” มุมมองนักกฎหมาย

ประกันชีวิต

บทความเรื่อง “ความระงับแห่งสัญญาประกันวินาศภัยกับการควบคุมตรวจสอบโดยภาครัฐ” โดย ผศ.ดร.กมลวรรณ จิรวิศิษฎ์ และ ผศ.ดร.ธีระรัตน์ จีระวัฒนา

วันที่ 18 มกราคม 2565 บทความฉบับนี้ระบุว่า เมื่อคู่สัญญาในสัญญาประกันวินาศภัยกล่าวคือบริษัทประกันภัย และผู้เอาประกันภัย แสดงเจตนาเข้าผูกนิติสัมพันธ์กันเกิดเป็นสัญญาประกันวินาศภัยขึ้น ทั้ง 2 ฝ่ายก็มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญา

ผู้เอาประกันภัย มีหน้าที่หลักในจ่ายเบี้ยประกันภัย ส่วนบริษัทประกันภัยมีหน้าที่หลักในการรับโอนความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัย หากเกิดภัยตามที่ตนรับเสี่ยงขึ้น บริษัทประกันภัยก็ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อเยียวยาให้ผู้เอาประกันภัยกลับคืนสู่สภาพเดิม แม้สัญญาประกันวินาศภัยจะเกิดจากเจตนาของคู่สัญญา แต่อาจระงับผลไปด้วยหลายสาเหตุ มิใช่เพียงแต่เหตุจากเจตนาของคู่สัญญาที่คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายตกลงเลิกสัญญากันเท่านั้น

เนื่องจากความเสี่ยงภัยตามสัญญาประกันวินาศภัยมีความสำคัญในฐานะที่เป็นเงื่อนไขในการชำระหนี้ที่บริษัทประกันภัยจะต้องพิจารณาในการตกลงทำสัญญา การเปลี่ยนแปลงของความเสี่ยงภัยจึงเป็นสาเหตุสำคัญ

ประการหนึ่งที่กระทบต่อสัญญาประกันภัย โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจทำให้เงื่อนไขในการชำระหนี้ของบริษัทประกันภัยได้รับผลกระทบจากที่เคยมีการคำนวณไว้ในขณะทำสัญญา ด้วยเหตุนี้ กฎหมาย หรือข้อสัญญาต่าง ๆ จึงกำหนดให้สัญญาประกันภัยระงับ หรือกำหนดสิทธิในการบอกเลิกสัญญาไว้

เนื่องจากความเสี่ยงภัยไม่ได้เป็นไปตามเดิม อันเป็นการทำให้สัญญาประกันภัยระงับสิ้นผลลงนอกเหนือไปจากการแสดงเจตนาตกลงกันเลิกสัญญาของคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย

ในประเทศไทยมีกฎหมายกำหนดให้สัญญาประกันวินาศภัยระงับลงเนื่องจากมีเงื่อนไขบางประการเกิดขึ้น อาทิ หากมีการโอนเปลี่ยนมือวัตถุที่เอาประกันภัยโดยไม่ใช่ผลของกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม

ตัวอย่างเช่น ผู้เอาประกันภัยขายอาคารพาณิชย์ที่เอาประกันอัคคีภัยไว้ไปในระหว่างที่สัญญายังมีผลบังคับอยู่ หากการโอนเปลี่ยนมือไปนั้น ทำให้ความเสี่ยงภัยของวัตถุที่เอาประกันภัยนั้นเพิ่มขึ้นหนัก สัญญาประกันวินาศภัยนั้นจะเป็นโมฆะ

จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่าการประกันภัยมีพื้นฐานความคิดจากการเฉลี่ยความเสี่ยงในภัย กล่าวคือ การประกันภัยเป็นการรวบรวมความเสี่ยงของบุคคลที่มีความสี่ยงภัยในภัยเดียวกันเข้าด้วยกัน โดยบุคคลเหล่านั้นจะสละเงินจำนวนเล็กน้อยมารวมกัน เพื่อนำไปช่วยเหลือคนที่ได้รับความเสียหายจากภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

พื้นฐานความคิดดังกล่าวได้รับการพัฒนามาเป็นระบบธุรกิจประกันภัย โดยมีบริษัทประกันภัยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวบรวมและเฉลี่ยความเสี่ยงในภัยของผู้เอาประกันภัยทั้งหลาย โดยผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยให้บริษัทประกันภัยนำไปรวบรวมเอาไว้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากภัย

ดังนั้น บริษัทประกันภัยจึงต้องคำนวณความเสี่ยงในภัยที่อาจเกิดขึ้นเพื่อนำมากำหนดเป็นเบี้ยประกันภัยให้เพียงพอจะกลับมาจ่ายเป็นค่าสินไหมทดแทนต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากภัย หากความเสี่ยงในภัยสูง เบี้ยประกันภัยจะสูง หากความเสี่ยงภัยต่ำ เบี้ยประกันภัยก็จะต่ำ

จากตัวอย่างข้างต้น หากการโอนวัตถุที่เอาประกันภัยดังกล่าวทำให้ความเสี่ยงภัยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญระหว่างที่สัญญาประกันวินาศภัยมีผล ก็จะทำให้เบี้ยประกันภัยที่บริษัทประกันภัยได้เคยเรียกเก็บไว้ไม่เพียงพอต่อความเสี่ยงที่สูงขึ้น

จึงเป็นที่มาให้กฎหมายบัญญัติให้สัญญาประกันวินาศภัยดังกล่าวระงับไป ทั้งเพื่อป้องกันการทุจริตของผู้เอาประกันภัย รวมถึงไม่ให้ผลของการโอนวัตถุที่เอาประกันภัยดังกล่าวถูกผลักภาระให้ผู้เอาประกันภัยอื่นที่ร่วมเฉลี่ยความเสี่ยงภัยให้ต้องรับเฉลี่ยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

สัญญาประกันวินาศภัยอาจระงับลงด้วยการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาของผู้เอาประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่เอาประกันภัยไว้เช่นกัน ในกรณีนี้เป็นการที่กฎหมายให้สิทธิคู่สัญญาบอกเลิกสัญญาประกันวินาศภัยแต่เพียงฝ่ายเดียว

ยกตัวอย่างเช่น หากทำสัญญาประกันวินาศภัยกันไว้ก่อน แต่ยังไม่ถึงวันที่บริษัทประกันภัยเข้ารับเสี่ยงภัย ผู้เอาประกันภัยอาจเปลี่ยนใจบอกเลิกสัญญาดังกล่าวโดยอำเภอใจก็ได้ อย่างไรก็ตามกรณีนี้บริษัทประกันภัยก็จะมีสิทธิได้เบี้ยประกันภัยตามสัญญาครึ่งหนึ่ง

เทียบกฎหมาย “จีน-อาร์เจนตินา-ฝรั่งเศส”

ในต่างประเทศ การเพิ่มขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงของความเสี่ยงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่กฎหมายกำหนดให้สิทธิบริษัทประกันภัย เช่น กฎหมายจีนกำหนดให้บริษัทประกันภัยมีสิทธิขอเพิ่มเบี้ยประกันภัยเมื่อมีการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงภัย และหากผู้เอาประกันภัยไม่ตกลงให้เพิ่มเบี้ยประกันภัย บริษัทประกันภัยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

กฎหมายอาร์เจนตินากำหนดให้บริษัทประกันภัยสามารถยื่นคำบอกกล่าวเพื่อขอเลิกสัญญาได้แม้การเปลี่ยนแปลงของความเสี่ยงจะไม่ได้มีสาเหตุมาจากผู้เอาประกันภัย

และกฎหมายฝรั่งเศสกำหนดให้ในกรณีที่มีความเสี่ยงภัยรุนแรงขึ้นระหว่างอายุสัญญา บริษัทประกันภัยมีสิทธิทางเลือกที่จะบอกเลิกสัญญาประกันภัยก็ได้ หรือจะเสนอจำนวนเบี้ยประกันภัยใหม่ก็ได้

กรมธรรม์ผ่าน คปภ.เป็นธรรมต่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้สัญญาประกันวินาศภัยอาจระงับลงด้วยข้อสัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาประกันวินาศภัยตามที่กำหนดไว้ในข้อสัญญาได้แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ต้องอาศัยความยินยอมจากคู่สัญญาอีกฝ่าย ดังเช่นในสัญญาประกันวินาศภัยในประเทศไทยเกือบทุกฉบับได้กำหนดให้ทั้งบริษัทประกันภัยและผู้เอาประกันภัยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขของการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเอาไว้แต่อย่างใด

ในกรณีนี้เกิดคำถามขึ้นว่า การให้สิทธิบริษัทประกันภัยบอกเลิกสัญญานั้นเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ หากพิจารณาอย่างผิวเผินอาจทำให้เข้าใจว่า การให้สิทธิบริษัทประกันภัยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าบอกเลิกสัญญากับผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้บริโภคได้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ในทุกกรณี

แต่หากพิจารณาบทบัญญัติให้ละเอียดจะพบว่า การจะพิจารณาว่าข้อสัญญาใดเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมจะต้องพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ทั้งปวง ประกอบด้วย มิใช่พิจารณาเฉพาะข้อความในสัญญา ดังนั้นจึงต้องพิจารณาเป็นกรณีว่า บริษัทประกันภัยใช้สิทธิตามข้อสัญญาบอกเลิกสัญญาประกันวินาศภัยด้วยสาเหตุใด หากเป็นสาเหตุอันสมควรตามหลักปกติในการประกอบธุรกิจประกันภัย จะถือว่าข้อสัญญานั้นเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมมิได้

กฎหมายกำหนดให้ภาครัฐเข้ามาตรวจสอบข้อสัญญาประกันวินาศภัยหรือกรมธรรม์ทุกฉบับ รวมถึงข้อสัญญาที่ก่อให้เกิดความระงับแห่งสัญญาประกันวินาศภัย ตลอดจนข้อตกลงให้สิทธิคู่สัญญาบอกเลิกสัญญาที่ปรากฏในกรมธรรม์ ก่อนที่บริษัทประกันภัยจะนำออกเสนอขายต่อประชาชน

บริษัทประกันภัยไม่อาจนำกรมธรรม์ที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากภาครัฐออกเสนอขายต่อประชาชนได้ หากบริษัทประกันภัยฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษอาญาตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ เพื่อให้ภาครัฐได้เข้าตรวจสอบเนื้อหาของสัญญาอันเป็นสัญญาสำเร็จรูป และถ่วงดุลอำนาจต่อรองอันเกิดจากฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและอำนาจทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าอีกฝ่าย ซึ่งเป็นผู้บริโภคทั่วไป ทำให้เกิดความเป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบกันจากข้อสัญญา

ดังนั้น จึงอนุมานในเบื้องต้นได้ว่า กรรมธรรม์ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากภาครัฐแล้วเป็นสัญญาที่เป็นธรรมต่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย หน้าที่ในการตรวจสอบกรรมธรรม์ดังกล่าวของรัฐนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมดังกล่าว เป็นหน้าที่อันสำคัญ

และเป็นหน้าที่ซึ่งปรากฏใน Insurance Core Principles14 ออกโดย The International Association of Insurance Supervisors (IAIS) ซึ่งเป็นองค์การไม่แสวงหาผลกำไรระหว่างประเทศ ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกที่เป็นองค์กรกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยกว่า 152 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย

เนื่องจากสภาพสังคม ความเสี่ยงภัย และสภาวการณ์ต่าง ๆ ของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ กรรมธรรม์ที่เคยได้รับความเห็นชอบจากภาครัฐแล้ว อาจไม่เหมาะสมและเป็นธรรมในเวลาต่อมา ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าว กรรมธรรม์ที่ได้รับความเห็นชอบจากภาครัฐให้ออกเสนอขายต่อประชาชนได้แล้ว ก็อาจมีความจำเป็นต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือยกเลิกได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ในการใช้อำนาจสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือยกเลิกกรรมธรรม์ ภาครัฐจะต้องใช้อำนาจออกคำสั่งโดยชอบไม่ให้กระทบสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาที่เกิดขึ้นแล้วจนก่อให้เกิดความเสียหายกับคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

คำสั่งนายทะเบียนต้องมีผลในอนาคต ไม่ใช่ย้อนหลัง

ดังนั้น คำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือยกเลิกกรรมธรรม์ดังกล่าวของภาครัฐจะต้องมีผลไปในอนาคต กล่าวคือมีผลกับกรมธรรม์ที่บริษัทประกันภัยจะได้นำออกเสนอขายต่อประชาชนภายหลังมีคำสั่งดังกล่าวหรือมิให้มีการเสนอขายกรมธรรม์ดังกล่าวในอนาคตอีกต่อไป มิเช่นนั้นแล้วจะขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง (Ex post facto law)

นอกจากนั้น หากคำสั่งมีผลย้อนหลังไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย ก็จะขัดกับหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องตรวจสอบถ่วงดุลความเป็นธรรมระหว่างคู่สัญญา หรือหากไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทประกันภัย ก็จะขัดกับหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องดูแลรักษาตรวจสอบความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัยที่จะได้กล่าวต่อไป

นอกจากเนื้อหาของคำสั่งต้องชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแล้ว กระบวนการออกคำสั่งก็ต้องชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย โดยภาครัฐต้องรวบรวมข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบคอบ รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเสียก่อน จึงจะสามารถมีคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือยกเลิกกรรมธรรม์ใดอีกด้วย

หน้าที่ของภาครัฐในการตรวจสอบถ่วงดุลความเป็นธรรมระหว่างคู่สัญญาในสัญญาประกันภัยวินาศภัยไม่ใช่หน้าที่อันสำคัญเพียงประการเดียว หากแต่ภาครัฐยังมีอีกหน้าที่ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

ได้แก่ หน้าที่ในการต้องดูแลรักษา และตรวจสอบความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัย เนื่องจากการสูญเสียความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัยจะกระทบต่อผู้เอาประกันภัยในวงกว้าง มากยิ่งกว่าความผิดพลาดอันเกิดจากหน้าที่รักษาความเป็นธรรมระหว่างคู่สัญญาซึ่งจะกระทบเฉพาะผู้เอาประกันภัยในกรรมธรรม์ประเภทหรือแบบที่มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นเท่านั้น

ในทางตรงกันข้ามหากเกิดความผิดพลาดขึ้นกับการดูแลรักษา และตรวจสอบความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัย หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นจะกระทบผู้เอาประกันภัยทุกคนในกรมธรรม์ทุกประเภทที่บริษัทประกันภัยออกขาย

ทั้งนี้เพราะหากบริษัทประกันภัยไม่มีความมั่นคงทางการเงิน หรืออยู่ในสภาวะล้มละลาย จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงกับผู้เอาประกันภัยทุกคน จากการที่บริษัทประกันภัยไม่มีสินทรัพย์เพียงพอที่จะดำเนินธุรกิจ หรือจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย ทำให้ผู้เอาประกันภัยทุกคนไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์

ทั้งยังจะส่งผลกระทบต่อเงินในกองทุนประกันวินาศภัยที่ต้องเข้ามารับหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชี เยียวยาไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการที่ต้องนำเงินจากกองทุนประกันวินาศภัยมาใช้หากเป็นจำนวนมากก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของระบบธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบ กล่าวคือกระทบต่อบริษัทประกันภัยทุกบริษัทและผู้เอาประกันภัยทุกคน

ดังนั้น ในการกำหนดเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ทุกฉบับ จึงต้องได้รับความเห็นชอบจากภาครัฐก่อน เพื่อให้ภาครัฐสามารถตรวจสอบว่าเบี้ยประกันภัยจำนวนดังกล่าวเพียงพอจะคุ้มครองความเสี่ยงที่บริษัทประกันภัยรับโอนมาจากผู้เอาประกันภัยหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบว่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวไม่มากจนก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น


หากบริษัทประกันภัยเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยต่างไปจากที่ได้รับความเห็นชอบจะต้องโทษอาญา รวมถึงบริษัทประกันภัยยังถูกควบคุมตรวจสอบการบริหารสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพัน เงินสำรอง การลงทุน การขายอสังหาริมทรัพย์ โดยภาครัฐอีกด้วย ซึ่งหน้าที่ดูแลรักษาตรวจสอบความมั่นคงทางการเงินบริษัทประกันภัยเป็นหน้าที่ซึ่งปรากฎใน Insurance Core Principles 20 ออกโดย IAIS เช่นกัน