ค่าเงินบาทผันผวน ท่ามกลางความหวังกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ค่าเงินบาท 22 พ.ย.

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 18 มกราคม 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/1) ที่ระดับ 32.90/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/1) ที่ระดับ 33.05/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากตลาดมีความหวังเรื่องการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว หลังมีข่าวกระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอที่ประชุม ศบค.ให้นำมาตรการ Test & Go กลับมาใช้อีกครั้ง ส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าลงมาทำในรอบสองเดือนที่ระดับ 32.91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศไทย ระบุว่าการฟื้นตัวของเศรษกิจไทยในปี 2565 ยังเปราะบาง โดยคาดว่าการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนจะกระทบจีดีพีราว 0.3% ขณะที่เศรษฐกิจจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดในไตรมาส 1/66 ขณะที่ ธปท.ไม่กังวลกับเงินเฟื้อในประเทศ ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยและการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด รวมถึงธนาคารกลางชั้นนำของโลกจะมีผลต่อตลาดการเงิน แต่ผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมจะค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะถูกตรึงไว้ที่ระดับ 0.5% ตลอดทั้งปี

ในส่วนของธนาคารกลางสหรัฐนั้น มีแนวโน้มที่จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม 2022 โดยเฟดจะประชุมส่งมอบการตัดสินใจนโยบายถัดไปในวันที่ 25-26 มกราคม ทั้งนี้ในช่วงสาย ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลังผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือระดับร้อยละ 1.80 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นปี 2020 โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.91-33.12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.09/11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (18/1) ที่ระดับ 1.1418/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/1) ที่ระดับ 1.1413/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นักลงทุนยังคงรอดูรายงานผลการประชุมของทางอีซีบีในวันพฤหัสบดีนี้ (20/1) โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าทางธนาคารกลางยุโรปจะยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในแถบยูโรโซน ถึงแม้ว่าในขณะนี้อัตรเงินเฟื้อจะอยู่ในระดับสูง โดยทางอีซีบีมองว่าในระยะกลางนั้นอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1385-1.1420 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1392/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/1) ที่ระดับ 114.49/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/1) ที่ระดับ 114.52/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultraloose Monetary Policy) ในการประชุมวันนี้ ซึ่งรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ประมาณ 0%

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฉุดให้ต้นทุนการกู้ยืมอยู่ในระดับต่ำ เพื่อช่วยเหลือบริษัทเอกชนและภาคครัวเรือน ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจซึ่งเปิดเผยหลังเสร็จสิ้นการประชุมในวันนี้ BOJ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อประจำปีงบประมาณ 2565 ขึ้นสู่ระดับ 1.1% จากเดิมที่ระดับ 0.9% เนื่องจากราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ BOJ ได้ปรับเพิ่มแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2565 ขึ้นสู่ระดับ 3.8% จากเดิมที่ระดับ 2.9%

โดยระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจถือเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่าผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มลดน้อยลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 114.45-115.04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.58/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือน ธ.ค. (19/1) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดเฟีย (20/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.40/0.55 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.0/-1.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ