เงินบาทแข็งค่าสุดรอบเกือบ 2 เดือน เอฟเฟ็กต์ “หุ้นส่งออก” ระยะสั้น

เงินบาท

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือน เอฟเฟ็กต์บรรยากาศเชิงลบหุ้นกลุ่มส่งออกระยะสั้น “บล.เอเซียพลัส” กาง 4 ปัจจัยกระทบค่าเงินผันผวน ชี้สัปดาห์หน้าประชุมเฟด-ค่าเงินดอลลาร์เหตุผลหลักทำให้ค่าเงินผันผวนแรง

วันที่ 20 มกราคม 2565 ธนาคารกสิกรไทย รายงานทิศทางค่าเงินบาทวันนี้ (20 ม.ค.) เปิดตลาดแข็งค่าที่ 32.92 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดสิ้นวันทำการก่อนหน้า แข็งค่าที่สุดในรอบเกือบ 2 เดือน และแข็งค่าสุดนำภูมิภาค

นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือนนั้น ประเมินว่าคงมีผลต่อบรรยากาศเชิงลบกับหุ้นกลุ่มส่งออก เนื่องจากสัดส่วนรายได้มีความสัมพันธ์กับค่าเงินบาท ซึ่งจากการแข็งค่าของเงินบาททำให้มีรายรับน้อยลง แต่เรามองเงินบาทไม่น่าจะแข็งค่ามากนัก แค่ช่วงสั้น ๆ เท่านั้นที่หลุดระดับ 33 บาท โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งหรืออ่อนค่ามาจาก 4 เรื่องคือ

               

1. ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะเทรนด์เป็นลักษณะแข็งค่าตามทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ โดยปีนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยน่าจะมีผลกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ดังนั้นกดดันให้ค่าเงินบาทมีลักษณะไม่น่าจะแข็งค่าแรง โอกาสที่จะชะลอการแข็งค่าหรือกลับไปอ่อนค่าได้ โดยเฉพาะจะมีประชุม Fed สัปดาห์หน้า

2. ดุลการค้าและดุลบริการ คือถ้าไทยมีการค้าดี ทิศทางส่งออกมากกว่านำเข้า ตรงนี้จะทำให้เงินไหลเข้าประเทศไทย จากภาคดุลการค้าหรือภาคบริการ เช่น ปีนี้ไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวผ่านระบบ Test & Go และหากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก ดุลบริการกลับมาเป็นบวก หรือส่งออกกลับมาเป็นบวก ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันให้บาทยังแข็งค่าในช่วงสั้นได้

3. ตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ หากปีนี้นักลงทุนต่างชาติมีการซื้อหุ้นและตราสารหนี้ เยอะ ๆ อาจทำให้เงินบาทแข็งค่าในช่วงสั้นได้ ซึ่งจะเห็นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติ และเห็นค่าเงินบาทยังแข็งค่าจากปัจจัยตรงนี้

4. ดอกเบี้ยไทย ภาพดอกเบี้ยนโยบายปีนี้น่าจะคงที่ ที่ 0.5% ซึ่งโดยปกติถ้าดอกเบี้ยขึ้นหรือลงจะมีผลต่อค่าเงิน โดยถ้าดอกเบี้ยขึ้นค่าเงินบาทจะแข็งค่า แต่ถ้าไทยไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ต่างประเทศปรับขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินบาทก็อาจจะอ่อนค่าได้

โดยหุ้นที่จะโดนผลกระทบช่วงสั้นคือ หุ้นส่งออก เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แต่กลุ่มนี้ไม่ได้ให้น้ำหนักมาก มีแนะนำ “ซื้อ” เพียงตัวเดียวคือ บมจ.สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (SMT)

ส่วนกลุ่มถุงมือยาง เพิ่งปรับคำแนะนำเป็น “Switch” จากพื้นฐานธุรกิจ และกลุ่มยาง ชอบ บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) และกลุ่มโครงสร้างเหล็กชอบ บมจ.เอ็ม.ซี.เอส.สตีล (MCS)

“สัปดาห์หน้าที่จะมีการประชุม Fed ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐน่าจะเป็นเหตุผลหลักทำให้ค่าเงินผันผวน โดยประเมินกรอบค่าเงินบาทช่วงไตรมาส 1/65 ที่ 32.5-34 บาท” นายฐกฤต กล่าว

ค่าเงินบาท