ค่าเงินบาทผันผวน หลังมติประชุม ศบค.จับตาสถานการณ์การเมืองในประเทศ

ต่างชาติแห่เทขายบอนด์ ทำค่าเงินบาทอ่อน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/1) ที่ระดับ 32.94/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/1) ที่ระดับ 33.06/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดอลลาร์สหรัฐในตลาดโลกพักฐานชั่วคราว หลังจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ของสหรัฐเริ่มชะลอตัวลงหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบแตะระดับร้อยละ 2.0

ทั้งนี้นักลงทุนจับตาการประชุมเฟดในวันที่ 25-26 มกราคม เพื่อหาความชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยนักวิเคราะห์คาดว่าเฟดจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมและอีกสามครั้งภายในปี 2565 สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 1.4% เดือน ธ.ค. สู่ระดับ 1.702 ล้านยูนิต สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.650 ล้านยูนิต จากระดับ 1.678 ล้านยูนิตในเดือน พ.ย. โดยตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านได้แรงหนุนจากสภาพอากาศอบอุ่นในเดือน ธ.ค. แม้ได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง และการขาดแคลนแรงงาน

สำหรับปัจจัยในประเทศนั้น ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเนื่องจากมีแรงขายเงินดอลลาร์สหรัฐจากลูกค้าผู้ส่งออกทองคำ หลังจากราคาทองในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 30 ดอลลาร์/ออนซ์สู่ระดับ 1,840 ดอลลาร์/ออนซ์ นอกจากนั้นค่าเงินบาทยังคงแกว่งตัวผันผวนหลังในวันนี้ (20/1) หลังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคิดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่มีมติขยายระยะเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 2 เดือน สิ้นสุด 31 มี.ค. 65 และปรับเวลาดื่มแอลกอฮอลล์ในร้านอาหารเป็นถึง 23.00 น. จาก 21.00 น. จากนี้ยังมีมติให้กลับมารับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศโดยใช้ระบบ Test & Go ได้อีกครั้งตั้งแต่ 1 ก.พ. 65 โดยปรับเป็นการตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง

ทั้งนี้นักลงทุนยังติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง กรณีของพรรคพลังประชารัฐที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.85-33.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.90/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (20/1) ที่ระดับ 1.1349/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/1) ที่ระดับ 1.1350/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยนักลงทุนจับตารายงานผลการประชุมของทางอีซีบีในวันพฤหัสบดีนี้ (20/1) โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าทางธนาคารกลางยุโรปจะยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้

เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในแถบยูโรโซน ถึงแม้ว่าในขณะนี้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูง โดยทางอีซีบีมองว่าในระยกลางนั้นอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1345-1.1369 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1349/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/1) ที่ระดับ 114.51/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/1) ที่ระดับ 114.33/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultraloose Monetary Policy) และได้ปรับเพิ่มแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2565 ขึ้นสู่ระดับ 3.8% จากเดิมที่ระดับ 2.9%

โดยระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจถือเป็นหลักฐานที่พิเศษว่าผลระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มลดน้อยลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 114.02-114.55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แะปิดตลาดที่ระดับ 114.20/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีธุรกิจของเฟด สาขาฟิลาเดลเฟีย (20/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.7/0.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.50/0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ