สมาคมตราสารหนี้เผยพบยอดผิดนัดชำระหนี้แล้ว3.75พันลบ. แต่ถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับNPLแบงก์

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่าการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้เอกชนที่ยังไม่สามารถชำระคืนหนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2/2560 อยู่ที่ 3.75 พันล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 0.12% ของมูลหนี้คงค้างรวม 3.2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยบริษัท บริษัท เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ KC บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ RICH บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC และ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH แต่หากรวมตราสารหนี้ที่ผิดนัดชำระแล้วและมูลค่าตราสารหนี้ที่ยังไม่ครบกำหนด และ cross-default ของ 4 บริษัทดังกล่าวจะอยู่ที่ 1.42 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.48% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ ที่ 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยกว่า NPL ของธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ 2.94%

“จากกรณีการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวตั้งเริ่มปลายปีที่ผ่านมานั้น พบว่าครึ่งแรกปี 2560 มูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นในกลุ่มที่มีเรทติ้งที่ดี (Investment grade) มีการออกเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มที่มีเรทติ้ง BB+และNon-rate มีการออกลดลง เพราะกังวลอาจจะไม่ได้รับความสนใจในการเข้าลงทุน จึงหันไปกู้เงินสถาบันการเงิน โดยขณะนี้ไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีบริษัทผิดนัดชำหนี้เพิ่มหรือไม่ เพราะกรณี EARTH ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่คาดฝัน” นายธาดากล่าว

นายธาดากล่าวต่อว่า ทั้งนี้คาดมูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวในครึ่งปีหลังจะมีมูลค่าการออกอีกกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการออกเพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนด ทำให้ยังคงเป้ายอดเอกชนออกหุ้นกู้ปีนี้รวม 6 แสนล้านบาท จากครึ่งแรกออกตราสารหนี้ระยะยาวแล้ว 4.4 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันก่อน โดยมีจำนวนผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวรวม 134 บริษัท เพิ่มขึ้น 13 บริษัทจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกลุ่มธุรกิจที่มียอดการออกสูงสุดในครึ่งแรกนี้ คือ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มกว่า 27% เทียบจากครึ่งแรกปีก่อน

ขณะที่มูลค่าการออกตราสารหนี้เอกชนระยะสั้นในภาพรวมยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 2.6% จากช่วงครึ่งแรกปีที่ผ่านมา โดยกว่า 60% ออกในรูปของตั๋วเงินระยะสั้น (BE) ซึ่งมีจำนวนผู้ออกเพิ่มขึ้น 8 รายคิดเป็นจำนวนรุ่นเพิ่มขึ้น 2,223 รุ่น และอายุการออกเฉลี่ยลดลง ทั้งนี้หากไม่รวมกลุ่มสถาบันการเงิน และการกู้ยืมภายในกลุ่มธุรกิจ มูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะสั้นในครึ่งปีแรกลดลง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ออกในรูปตั๋วบีอีกว่า 85% โดยเป็นการลดลงของการออกตราสารในกลุ่มอันดับเครดิตต่ำกว่า BBB+ ส่วนกลุ่มอันดับเครดิต A- ขึ้นไปพบว่ามีการออกเพิ่มขึ้น กลุ่มธุรกิจที่ออกตราสารหนี้ระยะสั้าสูงสุดในครึ่งปีแรกคือ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่มียอดการออกที่ลดลง 4% เทียบจากครึ่งปีที่แล้ว โดยครึ่งแรกยอดคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยที่11.34 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.93%

ส่วนแนวโน้มผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นจะยังคงทรงตัวตรมทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะคงที่ในระดับ 1.5 % ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยายอายุ 10 ปี มีโอกาสที่ผันผวนสูงในทิศทางขาขึ้นจากนโยบายการลดงบดุลของ FED ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่นที่มีสัญญาณที่ดี