ยีลด์อเมริกาพุ่งต่อเนื่อง บาทผันผวนรับมาตรการ Test & Go

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 17-21 มกราคม 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (17/1) ที่ระดับ 33.26/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/1) ที่ระดับ 33.19/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงสวนทางกับการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.79% ในช่วงต้นสัปดาห์และแตะระดับ 1.90% ในปลายสัปดาห์ สะท้อนให้เห็นถึงการคาดการณ์ว่าเฟดมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้

โดยตลาดเริ่มมีมุมมองว่าในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในเดือนมีนาคม มีโอกาสที่เฟดจะตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% จากเดิมที่เคยมองไว้เพียง 0.25% โดยในส่วนของตัวเลขทางเศรษฐกิจนั้น ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธันวาคมของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี ทางด้านดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนธันวาคมของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่าปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานอาจเริ่มคลายตัวและอัตราเงินเฟ้ออาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

ในขณะเดียวกัน รายงานยอดค้าปลีกของสหรัฐในเดือนธันวาคมปรับตัวลดลงเกินกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ ขณะที่การรายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ ได้ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 286,000 ตำแหน่ง สูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม สะท้อนสถานการณ์การว่างงานในช่วงฤดูหนาวและปัญหาไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังระบาดหนักอยู่ในสหรัฐ อย่างไรก็ดี คาดว่านักลงทุนจะมุ่งความสนใจไปยังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า (25-26/1) เพื่อหาสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ย หลังจากที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายต่างแสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ซึ่งรวมถึงนางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟด, นายชาร์ลส์ อีเวนส์ ประธานเฟด สาขาชิคาโก, นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟด สาขาฟิลาเดลเฟีย และนางแมรี่ ดาลี ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก ขณะเดียวกันโกลด์ แมนแซกส์ คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ และจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลในเดือน ก.ค. หรือเร็วกว่านั้น จากปัจจุบันที่พุ่งสูงกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์ นอกจากนี้สหรัฐจะมีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อในคืนวันศุกร์ (28/1) ซึ่งเป็นตัวเลขที่จะส่งผลกระทบต่อสภาวะตลาดการเงินอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นโดยได้รับอานิสงส์จากแรงเทขายดอลลาร์สหรัฐของนักลงทุน โดยระหว่างสัปดาห์ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาให้ความเห็นโดยระบุว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังเปราะบาง และคาดว่าการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนจะกระทบจีดีพีราว 0.3% ขณะที่เศรษฐกิจจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดในไตรมาส 1/66

ขณะที่ ธปท.ไม่กังวลกับเงินเฟ้อในประเทศ ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยและการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด รวมถึงธนาคารกลางชั้นนำของโลกจะมีผลต่อตลาดการเงิน แต่ผลต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมจะค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะถูกตรึงไว้ที่ระดับ 0.5% ตลอดทั้งปี

ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของตลาดในประเทศค่อนข้างผันผวนหลังมีข่าวเรื่องการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบ Test & Go ในกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้เสนอที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในวันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม เพื่อขอเปิดให้รับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้เข้ามาในประเทศไทยแบบเทสต์แอนด์โก (Test & Go) ได้อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทยให้กลับมาได้โดยเร็วที่สุด หลังจากรัฐบาลได้ตัดสินใจระงับไปเมื่อปลายปีก่อน เพราะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ทั้งนี้นักลงทุนยังติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง กรณีของพรรคพลังประชารัฐที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.83-33.33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (21/1) ที่ระดับ 32.98/33.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (17/1) ที่ระดับ 1.1418/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/1) ที่ระดับ 1.1463/65 ดอลลาร์สหรัฐ/โร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ทางอียูและเยอรมนีเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนมกราคมจากสถาบัน ZEW ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหภาพยุโรปจะทยอยปรับตัวลดลงภายในกลางปีนี้

ขณะที่วันพฤหัสบดีและวันศุกร์ (20/1 และ 21/1) ค่าเงินยูโรทรงตัวบริเวณ 1.1350 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังนักลงทุนจับตารายงานผลการประชุมของทางอีซีบี โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าทางธนาคารกลางยุโรปจะยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในแถบยูโรโซนถึงแม้ว่าในขณะนี้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูง โดยทางอีซีบีมองว่าในระยะทางนั้นอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1299-1.1428 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/1) ที่ระดับ 1.1337/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (17/1) ที่ที่ระดับ 114.47/49 เยน/ดอลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/1) ที่ระดับ 113.70/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากบอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นขานรับคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้เปิดฉากการประชุมกำหนดนโยบาย เพื่อประเมินสัญญาณเริ่มต้นของเงินเฟ้อและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

โดยการประชุมนโยบายการเงินในวันนี้ คณะกรรมการ BOJ มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultraloose Monetary Policy) ในการประชุมวันนี้ ซึ่งรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ประมาณ 0% โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฉุดให้ต้นทุนการกู้ยืมอยู่ในระดับต่ำ เพื่อช่วยเหลือบริษัทเอกชนและภาคครัวเรือน

นอกจากนี้นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินในวันนี้ว่าเขาไม่คิดว่า BOJ มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในปัจจุบันหรือหารือเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเชื่อว่า การพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น ส่วนในเรื่องค่าจ้างที่สูงขึ้นนั้น นายคุโรดะกล่าวว่า “เนื่องจากบริษัทเอกชนมีกำไรเพิ่มขึ้น ตลาดแรงงานจึงอาจเผชิญภาวะตึงตัวและนำไปสู่การปรับขึ้นค่าจ้างในระดับปานกลาง

นอกจากนี้รัฐบาลก็กำลังใช้การปฏิรูปภาษีเป็นเครื่องมือสนับสนุนค่าจ้างให้สูงขึ้น ขณะเดียวกันทางรัฐบาลก็คาดหวังว่าการออมที่เพิ่มขึ้นจะช่วยกระตุ้นการอุปโภคบริโภค ซึ่งปัจจัยบวกเหล่านี้จะช่วยให้ภาคครัวเรือนสามารถรับมือกับราคาสินค้าที่สูงขึ้นได้ นอกจากนี้ BOJ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อประจำปีงบประมาณ 2565 ขึ้นสู่ระดับ 1.1% จากเดิมที่ระดับ 0.9% เนื่องจากราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่เงินเยนอ่อนค่าลง และได้ปรับเพิ่มแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2565 ขึ้นสู่ระดับ 3.8% จากเดิมที่ระดับ 2.9%

โดยระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจถือเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่าผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มลดน้อยลง ทั้งนี้ในวันศุกร์ (21/1) เงินเยนแข็งค่าต่อเนื่อง หลังช่วงเช้ามีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อขยายตัว 0.5% ทรงตัวอยู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.60-114.98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/1) ที่ระดับ 113.93/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ