ค่าเงินบาททรงตัว จับตาประชุมเฟด 25-26 มกราคมนี้

ค่าเงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/1) ที่ระดับ 33.00/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/1) ที่ระดับ 32.98/99 บาท ค่าเงินบาทรวมถึงเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวทรงตัว โดยนักลงทุนจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 25-26 มกราคมนี้ เพื่อดูดความชัดเจนว่า เฟดมีแผนจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์หรือไม่ โดยล่าสุดนักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่าในปี 2565 เฟดจะมีการขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 4 ครั้ง และจะเริ่มปรับขึ้นครั้งแรกในเดือนมีนาคม

โดยข้อมูลเศรษฐกิจเมื่อสัปดาห์ที่แล้วบ่งชี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนธันวาคมพุ่งขึ้นรายปีมากที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซกส์ คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 4 ครั้งในปีนี้ โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และผลักดันให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ธ.ค. 64 พบว่า การส่งออกขยายตัวได้ 24.2% มาที่มูลค่า 24,930 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่การส่งออกทั้งปี 2564 ขยายตัวถึง 17.14% คิดเป็นมูลค่ารวม 2.71 แสนล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้หลังจากรัฐบาลได้เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ สามารถเข้ามาเที่ยวในประเทศผ่านรูปแบบ Test & Go ได้ โดยเริ่มวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้คาดการณ์สถานการณ์ด้านตลาดการท่องเที่ยวไตรมาส 1/2565 (เดือนมกราคม-มีนาคม 2565) ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 338,645 คน โดยจะสามารถสร้างรายได้ 26,065 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมการท่องเที่ยวในประเทศมีทิศทางเติบโตขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้สรุปตัวเลขงบประมาณที่จะใช้สำหรับโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 แล้ว โดยจะเสนอ ครม.อนุมัติวงเงิน 43,500 ล้านบาท สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 จำนวน 27-28 ล้านคน ซึ่งคาดหวังว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรอบนี้ไม่น้อยกว่า 87,000 ล้านบาท และจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รวม 0.24% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบ เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.99-33.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.09/11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (24/1) ที่ระดับ 1.1335/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/1) ที่ระดับ 1.1340/42 ค่าเงินยูโรยังแกว่งตัวในกรอบ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าทางธนาคารกลางยุโรปจะยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในแถบยูโรโซนถึงแม้ว่าในขณะนี้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูง โดยทางอีซีบีมองว่าในระยะกลางนั้นอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1310-1.1339 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1323/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/1) ที่ระดับ 113.79/81 เยน/ดอลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/1) ที่ระดับ 113.96/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนได้แรงหนุนในฐานะเงินสกุลปลอดภัย หลังจากสถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซียมีความตึงเครียดมากขึ้น โดยมีรายงานจากหลายแห่ง ระบุว่า รัสเซียกำลังมีแผนการทางทหารที่สำคัญต่อยูเครน

นอกจากนี้ในประเทศญี่ปุ่นเองโควิดสายพันธุ์โอมิครอนยังคงแพร่ระบาดลุกลามไปทั่วประเทศ โดยมียอดติดเชื้อรายวันทะลุ 50,000 ราย โดยเป็นการเพิ่มขึ้น 100 เท่าใน 3 สัปดาห์ นับตั้งแต่ที่มีผู้ติดเชื้อรายวันเพียง 534 รายในวันที่ 1 ม.ค. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.50-113.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.51/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการ (24/1) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค. (25/1) ยอดขายบ้านใหม่ (26/1) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE และ Core PCE Price Index) เดือน ธ.ค. จีดีพีไตรมาส 4/64 และจำนวนผู้ขอรับสมัครการว่างงานรายสัปดาห์ (27/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.7/0.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.7/-0.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ