ธุรกิจแห่ออกหุ้นกู้ ESG ฝ่าเทรนด์ “บอนด์ยีลด์” ขาขึ้น

กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้บริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการระดมทุน หันมาออกหุ้นกู้ ESG (environment, social และ governance) กันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ปี’64 ธุรกิจออกหุ้นกู้ ESG พุ่ง

โดย “ธาดา พฤฒิธาดา” กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่าในปี 2564 มีมูลค่าการออกหุ้นกู้ ESG bond (ไม่รวม SLB bond หรือตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน) ตลอดทั้งปีอยู่ที่ 152,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% จากสิ้นปี 2563 ที่มีมูลค่า 86,400 ล้านบาท ถือว่าเป็นการเติบโตที่ค่อนข้างสูงมากจากปีก่อน

ทั้งนี้ มีบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งให้ความสนใจและออกหุ้นกู้ ESG เพื่อระดมทุนเพิ่มขึ้น ทั้งหุ้นกู้สีเขียว (green bond) อาทิ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ที่ระดมทุนไปสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศเวียดนาม

หรือหุ้นกู้เพื่อสังคม (social bond) อาทิ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ที่ระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย และหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) อาทิ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ที่ระดมทุนเพื่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เป็นต้น

“ในปี 2564 สมาคมมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งเป็น ESG bond ประเภทหนึ่ง คือ SLB bond ที่ผู้ออกจะกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ต้องการบรรลุผลสำเร็จและเชื่อมโยงความสำเร็จกับการจ่ายอัตราดอกเบี้ย โดยในปีที่ผ่านมา มีผู้ออก 2 รายคือ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) มูลค่ารวม 11,000 ล้านบาท และ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท”นายธาดากล่าว

หุ้นกู้ ESG ปี’65 โตต่อเนื่อง

ขณะที่ “อริยา ติรณะประกิจ” รองกรรมการผู้จัดการ ThaiBMA ประเมินว่า ในปี 2565 นี้ แนวโน้มการออกหุ้นกู้ ESG คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีบริษัทที่มีศักยภาพในการที่จะระดมทุนด้าน ESG หลายแห่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีอยู่ในดัชนี sustainability index อยู่แล้ว จึงเชื่อว่าบริษัทน่าจะมีการดำเนินงานที่จะสอดคล้องไปกับกระแสความยั่งยืน

ดังนั้นในเรื่องของการระดมทุนก็มีความเป็นไปได้และก็มีศักยภาพที่จะเข้ามาระดมทุนผ่านหุ้นกู้ ESG เพิ่มมากขึ้น

“ปัจจุบันเริ่มมีบริษัทขนาดใหญ่หลายรายโดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน อาทิ บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เป็นต้น บวกกับการที่มีหุ้นกู้ ESG ประเภทใหม่อย่างหุ้นกู้ SLB เข้ามาก็อาจจะเอื้อให้อีกหลายบริษัทสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระแส ESG ได้มากขึ้นในปีนี้

ทั้งนี้ ในปี 2565 สมาคมก็มีแนวคิดที่จะส่งเสริม ESG ประเภทใหม่ อย่างเช่น blue bond (ตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อนำมาใช้กับโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน) เป็นต้น ซึ่งน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับบริษัทที่มีความตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อม” นางสาวอริยากล่าว

บอนด์ยีลด์พุ่งกดผลตอบแทน

ด้าน “ศิรินารถ อมรธรรม” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย ThaiBMA กล่าวว่า ในส่วนผลตอบแทนหุ้นกู้ ESG ในปี 2564 ที่คำนวณจาก ESG bond index พบว่า ผลตอบแทนออกมาติดลบที่ 4.6% เนื่องจากหุ้นกู้ ESG เป็นตราสารหนี้ระยะยาว จึงได้รับผลกระทบจากทิศทางที่อัตราผลตอบแทน (ยีลด์) ที่เป็นขาขึ้น

ส่วนแนวโน้มในปี 2565 ผลตอบแทนหุ้นกู้ ESG ก็คงติดลบ เช่นเดียวกับหุ้นกู้ปกติอื่น ๆ เพราะบอนด์ยีลด์ยังเป็นขาขึ้น แต่หากนักลงทุนถือหุ้นกู้โดยตรง และถือจนครบอายุก็จะได้เงินต้นคืนครบถ้วน พร้อมผลตอบแทนที่ผู้เสนอขายประกาศไว้

“หุ้นกู้ ESG ก็เป็นหุ้นกู้ประเภทหนึ่ง ไม่ต่างจากหุ้นกู้ปกติทั่วไป โดยสมาคมมองว่าในปีนี้บอนด์ยีลด์น่าจะปรับตัวสูงขึ้น อย่างรุ่นอายุ 5 ปี คาดว่าจะขยับตัวสูงขึ้นราว 40-50 bps ไปเคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณ 1.7-1.8% ต่อปี ณ สิ้นปี 2565 จากสิ้นปี 2564 ที่อยู่ที่ 1.28%

ดังนั้น ปีนี้ ผลตอบแทนตราสารหนี้ทุกประเภท รวมถึงหุ้นกู้ ESG ก็มีโอกาสปรับลดลง อย่างไรก็ดี ในแง่การระดมทุน ทางสมาคมคาดว่าธุรกิจน่าจะออกหุ้นกู้ ESG กันมากขึ้น เพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการต่าง ๆ ตามแผนการดำเนินงานของแต่ละบริษัท” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย ThaiBMA กล่าว