คุม “รูดปรื๊ด” บีบตลาดแข่งดุ ออมสินโอดถูกจำกัดหาลูกค้าใหม่ยาก

แบงก์ออมสินชี้มาตรการคุม “บัตรเครดิต-พีโลน” กระทบธุรกิจในฐานะผู้เล่นหน้าใหม่ ชี้แข่งขันดุเดือดขึ้น แบงก์ต้องงัดสิทธิพิเศษชิงลูกค้า เครดิตบูโรระบุต้องคุมทั้งแบงก์พาณิชย์-แบงก์รัฐ ขณะที่นักวิชาการ “นิด้า” เตือนระวังคนหันกู้นอกระบบ ด้าน ธปท. ยันไม่ฉุดการบริโภคมาก เหตุไม่มีผลย้อนหลังกับผู้ถือบัตรเก่า

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมาคุมบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) สำหรับผู้กู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/เดือน โดยจำกัดการอนุมัติสินเชื่อเหลือเพียง 1.5 เท่าของรายได้ต่อสถาบันการเงิน และถือบัตรได้ไม่เกิน 3 ใบนั้น ต้องยอมรับว่าจะมีผลกระทบต่อธนาคาร ที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น และจะแข่งให้สิทธิพิเศษ (Privilege) แก่ลูกค้าเพิ่มขึ้น

 

 

 

 

 

 

ปัจจุบัน เงื่อนไขการอนุมัติบัตรเครดิตของธนาคาร ลูกค้าจะต้องมีรายได้ 1.5 หมื่นบาทขึ้นไป ซึ่งขณะนี้มีทำบัตรเครดิตแล้วกว่า 1 แสนใบ จากฐานลูกค้ากลุ่มนี้ที่มีอยู่ทั้งหมดราว 20 ล้านราย อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นกลุ่มมีรายได้เฉลี่ย 3-5 หมื่นบาท

“ถ้ามาตรการออกมาก็จะมีผลกระทบ คือการจำกัดรายได้และวงเงิน ทำให้ธุรกิจของแบงก์ที่เพิ่งออกบัตรอย่างธนาคารออมสิน ซึ่งเราเพิ่งมีลูกค้าบัตรเครดิตประมาณกว่า 1 แสนราย ก็อาจถูกจำกัดมากขึ้น เพราะว่าปัจจุบันนี้บัตรเครดิตภาพรวมมีประมาณ 20 ล้านใบ คนถือเฉลี่ย 2.3-2.5 ใบต่อคน ซึ่งหาก ธปท.กำหนดไว้ไม่เกิน 3 ใบ ตลาดที่เป็นลูกค้าเก่าก็เต็ม เราก็ต้องหาตลาดใหม่ แต่ตลาดใหม่ทุกแบงก์ก็ต้องแข่งขันกันมากขึ้น อาจจะเห็นการให้ Privilege มากขึ้นเพื่อดึงลูกค้าของแบงก์อื่นด้วย เพราะถ้าบางรายถือเต็ม 3 ใบแล้ว จะเปลี่ยนไปถือของอีกแบงก์ก็ต้องยกเลิกของแบงก์หนึ่งไป” นายชาติชายกล่าว

ส่วนกรณีสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น นายชาติชายกล่าวว่า ตนเข้าใจว่าเป็นการควบคุมในส่วนที่เป็นการให้เครดิตหมุนเวียน (revolving credit) หรือบัตรกดเงินสด ซึ่งหากเป็นแบบนี้จะไม่กระทบกับพอร์ตสินเชื่อประชาชนของธนาคารออมสินที่เป็นการให้เงินกู้ ไม่ใช่เครดิตหมุนเวียน จึงถือว่าเป็นคนละกลุ่มผลิตภัณฑ์กัน เพราะหากจะคุมถึงสินเชื่อประชาชนที่ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้แก่ธุรกิจฐานรากที่ไม่มีหลักประกัน วงเงินไม่เกิน 2 แสนบาท จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนแน่นอน

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด กล่าวว่า แต่ละปีสถาบันการเงินมีการออกบัตรเครดิตเฉลี่ย 2.2 ล้านใบ โดยที่ผ่านมาธุรกิจการเงินมีการแข่งขันสูง ทำให้บางค่ายมีโปรโมชั่นกระตุ้นให้คนใช้จ่าย ซึ่งน่ากังวลว่า คนอายุน้อยที่เพิ่งเริ่มทำงาน เมื่อก่อหนี้แล้ว หากไม่มีวินัยทางการเงินก็อาจจะส่งผลต่อการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการใช้ชีวิตในอนาคตได้

“การแก้ปัญหาก็อาจต้องมีกลไกให้คนที่มีรายได้จำนวนหนึ่งสามารถก่อหนี้ได้ไม่เกินกี่เท่าของรายได้ ซึ่งกลไกนี้สามารถใช้คุมหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน และอีกจุดคือการทำ One stop service ให้คนที่เป็นหนี้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที แต่อีกเรื่องที่สำคัญคือ การเพิ่มความรู้ทางการเงินให้กับลูกหนี้หน้าใหม่และลูกหนี้เก่า ว่าจะกู้ก็ต้องมั่นใจว่าจะชำระหนี้ได้” นายสุรพลกล่าว

นายสุรพลกล่าวด้วยว่า เกณฑ์ที่ ธปท.จะออกมาควรจะเป็นการควบคุมสถาบันการเงินทั้งหมดที่เป็นผู้ให้สินเชื่อ โดยครอบคลุมถึงธนาคารของรัฐด้วย เพราะหากใช้กฎ กติกาคนละแบบ อาจมีช่องโหว่ให้คนไปก่อหนี้เพิ่มได้

นางสาวณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า มาตรการของ ธปท.ไม่น่ากระทบกำลังซื้อมากนัก อย่างไรก็ดี คงต้องมีการกำหนดเงื่อนไขให้เหมาะสม เพราะไม่เช่นนั้นก็มีความเสี่ยงที่คนอาจจะหันไปใช้สินเชื่อนอกระบบได้


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า มาตรการคุมสินเชื่อบัตรเครดิตไม่ได้กระทบกับผู้ที่ถือบัตรอยู่แล้วในปัจจุบัน ดังนั้นผลกระทบต่อการบริโภคภาพรวมคงมีไม่มาก เพราะจริง ๆ แล้วการก่อหนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงพักเดียว แต่พอครัวเรือนมีหนี้สูงขึ้น ก็ทำให้อำนาจการบริโภคในอนาคต จะน้อยลง เพราะต้องนำเงินไปชำระหนี้