กยศ. ไขปมดราม่าดอกเบี้ย-ค่าปรับอัตราผ่อนปรน จ่ออนาคตไกล่เกลี่ยแทนฟ้อง

กยศ.แจงเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี และเบี้ยปรับไม่เกินร้อยละ 18 ต่อปี ตามกฎหมาย ย้ำที่ผ่านมาเป็นอัตราผ่อนปรนพร้อมยืนยันเริ่มใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แทนการฟ้องร้องดำเนินคดี ย้ำกองทุนฯ มีเงินเพียงพอให้ผู้ขาดแคลนกู้ได้ทุกคน

วันที่ 28 มกราคม 2563 นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวเรื่องดอกเบี้ยและเบี้ยปรับของ กยศ. รวมทั้งการจ้างทนายความเพื่อติดตามหนี้นั้น

กองทุนขอชี้แจงว่า ในประเด็นดอกเบี้ยและเบี้ยปรับของกองทุนนั้น ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 มาตรา 44 ได้ระบุให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี และห้ามคิดดอกเบี้ยทบต้น ในกรณีผิดนัดการชำระเงินคืนกองทุน คณะกรรมการจะกำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินต้องเสียเงินเพิ่มอีกไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อเดือนก็ได้ (หรือไม่เกินร้อยละ 18 ต่อปี)

แต่ที่ผ่านมากองทุนมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปีมาโดยตลอด และปัจจุบันคิดเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด กองทุนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 และลดอัตราเบี้ยปรับเหลือร้อยละ 0.5 เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้กู้ยืม

ทั้งนี้ รายได้ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่กองทุนได้รับมานั้น เงินดังกล่าวก็ได้นำมาหมุนเวียนให้กับผู้กู้ยืมรุ่นน้อง

สำหรับประเด็นเรื่องการดำเนินคดีนั้น กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ได้มีเจตนาหลักในการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อบังคับชำระหนี้ แต่กองทุนมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายเพื่อมิให้คดีขาดอายุความ ซึ่งจะทำให้รัฐเกิดความเสียหาย

ทั้งนี้ กองทุนมีการรับชำระหนี้ที่ดีขึ้นมาตลอด เป็นผลมาจากผู้กู้ยืมรุ่นพี่ได้ส่งมอบโอกาสและมีกระบวนการหักเงินเดือน ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา กองทุนได้ชะลอการฟ้อง บังคับคดี และขายทอดตลาด ยกเว้นในคดีที่มีความจำเป็นเนื่องจากจะขาดอายุความ

ในปัจจุบันมีพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯ ทางกองทุนจึงได้ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ไบเทคบางนา ห้องภิรัชฮอลล์ 1-3

โดยกองทุนจะเชิญผู้กู้ยืมที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะถูกดำเนินคดี เข้ามาทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยผู้กู้ยืมที่เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยจะไม่ถูกดำเนินคดี มีส่วนลดเบี้ยปรับ ได้รับโอกาสในการขยายระยะเวลาผ่อนชำระได้ถึงอายุ 65 ปี

และเมื่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่…) พ.ศ. ….ที่อยู่ระหว่างการขอแก้ไขมีผลบังคับใช้ กองทุนจะมีอำนาจในการปลดภาระผู้ค้ำประกัน โดยกองทุนมีหลักการว่าจะยกเลิกการค้ำประกันของผู้ค้ำประกัน เมื่อผู้กู้ยืมได้ผ่อนชำระเงินต้นมาแล้วร้อยละ 25 ของเงินต้นที่ค้างชำระ ซึ่งการใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยดังกล่าวจะเป็นผลดีกับลูกหนี้ที่จะไม่ถูกดำเนินคดี และกองทุนจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีต่อไปในอนาคต

“กองทุนขอยืนยันว่า กองทุนจะเป็นหลักประกันให้ทุกครอบครัวว่าน้อง ๆ ที่ขาดแคลนสามารถกู้เงินได้ทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา” นายชัยณรงค์กล่าว

อย่างไรก็ดี กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับของกระทรวงการคลัง ดำเนินการในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับโอกาสทางการศึกษาไปแล้ว 6,206,983 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 680,103 ล้านบาท โดยให้กู้ยืมเฉลี่ยปีละ 26,157 ล้านบาท


ที่ผ่านมากองทุนได้ใช้งบประมาณแผ่นดินไปแล้วประมาณ 468,673 ล้านบาท ปัจจุบันกองทุนได้นำเงินที่ผู้กู้ยืมรุ่นพี่ชำระคืนกองทุนกลับมาหมุนเวียนในการปล่อยกู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้อง โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา