“ภากร” ทรานส์ฟอร์มตลาดหุ้นไทย ปั้นซูเปอร์แอปรับลงทุนทุกสินทรัพย์

แฟ้มภาพ

กระแสสินทรัพย์ดิจิทัลที่มาเร็วและแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทิศทางการลงทุนที่เปลี่ยนไป ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่เป็นแหล่งลงทุนและระดมทุนต้องปรับตัวขนานใหญ่เพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ และพฤติกรรมการลงทุนที่เปลี่ยนไป

โดยล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯเพิ่งประกาศแผนกลยุทธ์ ระยะ 3 ปีข้างหน้า (2565-2567) ที่พร้อมกับโลกดิจิทัลใหม่ ซึ่งจะพลิกโฉมธุรกิจที่ดำเนินมากว่า 40 ปี ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลท.ถึงแผนดังกล่าว

4 เรื่องเร่งด่วนต้องดำเนินการ

“ภากร” กล่าวว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า ตลาดหลักทรัพย์ฯมีแผนจะเพิ่มผลิตภัณฑ์การลงทุนและบริการต่าง ๆ ให้มากขึ้น ตอบโจทย์นักลงทุน ที่ปัจจุบันมีกลุ่มใหม่ ๆ และมีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดว่า การลงทุนไม่ใช่การลงทุนเฉพาะแค่ในประเทศ แต่มีความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลกที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหุ้น, ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ดิจิทัล

อย่างเช่น คริปโทเคอร์เรนซี รวมถึงความต้องการที่จะลงทุนในสตาร์ตอัพ หรือการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ยังไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (private equity) โดย 4 เรื่องเร่งด่วนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯมีแผนดำเนินการใน 3 ปีข้างหน้า ได้แก่ 1.การหาผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างประเทศมาตอบโจทย์นักลงทุน 2.การดึงบริษัทต่างประเทศมาระดมทุน 3.การเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน และ 4.มีทางเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset alternative) ให้กับพวกนักลงทุนที่สนใจการลงทุนลักษณะนี้

เทรด “หุ้นนอก” เป็น “บาท”

โดยโปรดักต์ใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯเตรียมออกมาในปีนี้ คือ ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) ที่จะให้บริษัทหลักทรัพย์ในไทยเป็นผู้ออกและเสนอขาย โดยผู้ออกจะไปซื้อสินค้าอ้างอิงจากต่างประเทศ ยกตัวอย่าง ซื้อหุ้นบริษัทแอปเปิล หรืออื่น ๆ มาเก็บไว้ในแบงก์ที่รับฝากสินทรัพย์ (custodian bank) แล้วนำมาเสนอขายนักลงทุนรายย่อย เป็นสกุลเงินบาท ด้วยวงเงินที่อาจจะไม่สูงมาก เช่น อาจจะ 500-1,000 บาท ก็สามารถลงทุนหุ้นต่างประเทศได้

“เรามีแนวทางที่จะทำให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ทั่วโลก โดยใช้สกุลเงินบาท สามารถลงทุนเวลาไหนก็ได้ และลงทุนได้โดยไม่จำเป็นต้องซื้อเป็นจำนวนหุ้น นี่คือสิ่งที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน นอกจากนี้ จะทำให้การเปิดบัญชีลงทุนทำได้ง่ายขึ้น สั่งซื้อขายง่ายผ่านออนไลน์ เช็กข้อมูลได้หมดว่า ถืออะไรอยู่บ้าง ไปจนถึงการทำให้นักลงทุนซื้อขายได้ในเวลาที่มากกว่าเวลาทำการปกติ โดยเฉพาะสินทรัพย์ต่างประเทศที่จะต้องซื้อขายได้ตามเวลาที่ตลาดนั้น ๆ เปิด เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องปรับตัว เพื่อที่จะสามารถให้บริการนักลงทุนได้ดีขึ้น”

ปั้นกระดาน “สตาร์ตอัพ-SMEs”

ขณะที่ในแง่การระดมทุน ก็มีทั้งแผนผลักดันบริษัทไทยให้ไปเติบโตในต่างประเทศ หรือในภูมิภาค รวมถึงการดึงบริษัทต่างประเทศเข้ามาระดมทุนในตลาดไทย เพื่อสร้างการเติบโตให้ตลาด พร้อมกับสนับสนุนการระดมทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต (new S-curve)

“เรามีการพัฒนา LiVE Platform และ LiVE Exchange ขึ้นมา เพื่อให้กลุ่มสตาร์ตอัพ และธุรกิจเอสเอ็มอี ที่อยากจะสร้างธุรกิจ สามารถหาทุนจากตลาดทุนได้ เพื่อทำให้ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจขึ้นในสายตาผู้ระดมทุน โดยภายในปี 2565 นี้ จะสามารถเปิดตลาด LiVE Exchange เพื่อเป็นช่องทางการระดมทุนของกลุ่มสตาร์ตอัพและเอสเอ็มอีได้แน่นอน ซึ่งตอนนี้มีธุรกิจสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ คาดว่าถ้าเปิดให้บริการจะมีบริษัทเข้ามาเทรดในกระดานได้เลย”

นอกจากนี้ยังได้มีการทำงานร่วมกับ ก.ล.ต.ในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่จะให้บริษัทต่างประเทศ เข้ามาระดมทุนในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น โดยจะมีมาตรการดึงดูดธุรกิจที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ หรือ new S-curve หรืออุตสาหกรรมที่จะมาช่วยต่อยอดได้ในอนาคตเข้ามามากขึ้น

โครงข่ายลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล

นายภากรฉายภาพว่า ด้วยเทรนด์การลงทุนที่เปลี่ยนไป และการเข้ามาของ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯเตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุนของสินทรัพย์ทุกประเภท โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขออนุญาตจาก ก.ล.ต.เพื่อดำเนินการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset exchange) ภายใต้บริษัท ไทย ดิจิทัล เอ็กซ์เชนจ์ จำกัด (TDX)

โดยจะมุ่งเน้นเป็นศูนย์ซื้อขายผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีสินทรัพย์อ้างอิงชัดเจน หรือ investment token มองว่าน่าจะดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่ชอบลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถเลือกเข้ามาลงทุนได้ แต่ทั้งนี้ TDX จะไม่ได้เป็นตลาดซื้อขายคริปโทเหมือนกับศูนย์ซื้อขายอื่น ๆ

เพราะคริปโทกับ investment token เป้าหมายนักลงทุนคนละกลุ่มกัน ซึ่งคริปโทจะเป็นนักลงทุนเน้นเก็งกำไร ส่วน investment token จะเป็นกลุ่มที่เน้นลงทุนในระยะยาว และได้ผลตอบแทนจากการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งก็เป็นทางเลือกให้นักลงทุนได้ ในความเสี่ยงที่แต่ละคนต้องการ

ผู้จัดการ ตลท.อธิบายเพิ่มเติมว่า TDX ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะปรับเปลี่ยนจากธุรกิจแบบดั้งเดิม ไปสู่การเป็น open platform business ที่เชื่อมต่อกับส่วนต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเชื่อมต่อกันได้หมด ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาเชื่อมต่อในวงของ ตลท.เพื่อนำเสนอบริการที่มีความสะดวกมากที่สุด

Settrade “ซูเปอร์แอป”

นายภากรอธิบายว่า TDX จะเปิดกว้างเป็นเหมือนสายส่งที่ต่อเชื่อมให้ทุกคนเข้ามาทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้ หรือมาทำฟังก์ชั่นต่าง ๆ ยกตัวอย่าง token issuer (ผู้ออกโทเค็น) รวมถึงเชื่อมกับ exchange รายอื่น ๆ ที่สนใจจะเข้ามาเชื่อม ซึ่งปัจจุบัน ตลท.มีคุยกับพาร์ตเนอร์หลายราย ที่เปิดเผยชื่อได้แล้ว คือ บริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัด (Kubix) ในเครือธนาคารกสิกรไทย

ยกตัวอย่างกรณี บมจ.แสนสิริ ที่ใช้บริษัท Xspring ในการออก investment token ซึ่งอนาคตผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ก็สามารถใช้บริการ Xspring ที่ต่อเชื่อมอยู่ในวงของตลาดหลักทรัพย์ฯได้ ทุกคนสามารถเลือกได้หมด ว่าต้องการใครบ้าง หรือจะเทรดใน exchange ไหน ก็มีหลาย exchange รองรับ

“นักลงทุนอยากจะต่อเชื่อมกับผู้ออกหลักทรัพย์รายนี้ หรืออยากจะเชื่อมต่อไปที่ exchange หรือจะเก็บวอลเลตไว้ที่ไหน ซึ่งถ้าเป็นแต่ละผู้ให้บริการจะเชื่อมกันไม่ได้ แต่ด้วยระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เป็น open system เราสามารถใช้แอปพลิเคชั่นเป็นตัวที่ควบคุมได้หมด รูปแบบของตลาดหลักทรัพย์ฯในอนาคตไม่ใช่เป็นตึก เป็นอะไรแล้ว แต่ตลาดจะเป็นแพลตฟอร์มอยู่บนดิจิทัล”

นายภากรกล่าวต่อว่า เป้าหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นศูนย์รวมการลงทุนทุกสินทรัพย์ พร้อมกันนี้จะมีการยกเครื่องแอปพลิเคชั่น “Settrade” ที่พัฒนาโดยบริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด ให้เป็น “ซูเปอร์แอป” ที่เชื่อมโยงกับส่วนต่าง ๆ

เพื่อให้มีบริการที่หลากหลาย ตอบโจทย์นักลงทุนทุกกลุ่ม เข้าแอปเดียวเลือกลงทุนได้หมดทั้งซื้อขายหุ้น, functional DR, ETF, กองทุนรวม รวมถึง investment token

ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยากเห็น

“ภากร” กล่าวว่า ทิศทางสินทรัพย์ดิจิทัลในเมืองไทยนั้น ในมุมของตนเองนั้น คิดว่าเราต้องสร้างระบบนิเวศ ที่ทำให้ผู้ออกโทเค็น และนักลงทุนได้ใช้ตลาดทุนในประเทศไทยอย่างที่อยากได้ หรืออยากทำ โดยมีต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพสูง ตรงความต้องการ นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดคือตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน ดังนั้น การวางแผนเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลของ ตลท.จึงเป็นการสร้างระบบนิเวศแบบที่เป็น mutiplayer

เพราะเชื่อว่าในอนาคตคนคนเดียว หรือบริษัท ๆ เดียว คงไม่สามารถให้บริการดี ๆ ได้ครบทุกอย่าง ต้องเป็นกิจการค้าร่วม (consortium) เป็นเหมือนพาร์ตเนอร์ชิป และอยู่แพลตฟอร์มซึ่งไร้รอยต่อ แบบนั้นจะเป็นสิ่งที่ทำให้สร้างตลาดทุนให้ใหญ่ขึ้นได้

“สิ่งที่อยากจะเห็นตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของเรา คือมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีผู้เล่นที่ต่อเชื่อมกันได้ และผู้เล่นที่เก่ง ก็โตขึ้นเรื่อย ๆ แล้วมีคนเข้ามาใช้บริการมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สัดส่วนรายได้มีขนาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และหวังว่าต่อไปจะสามารถมีผู้เล่นแพลตฟอร์มข้ามชาติ (cross border player) เข้ามาใช้บริการโครงข่ายสินทรัพย์ดิจิทัลของเรา รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ฯดั้งเดิมด้วย ผมว่านี่เป็นมุมมอง ที่ไม่ใช่ zero-sum game แต่เป็น inclusive growth การเติบโตแบบทั่วถึงเพราะทุกคนได้ประโยชน์”

โจทย์ยากกำกับ “โลกอนาคต”

ส่วนในมุมด้านการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ผู้จัดการ ตลท.ยอมรับว่า เห็นใจฝ่ายกำกับมาก เพราะโลกอนาคต จะตามทันยาก ทำให้การกำกับดูแลยากมาก เพราะการพัฒนามันรวดเร็ว แถมยิ่งไปกว่านั้นจะมีอะไรใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

เนื่องจากการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง จะต้องเน้นการให้ความรู้ผู้ลงทุนเพราะเป็นเรื่องใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น จะต้องมีการสร้างคนเป็น trust agent เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ไปอ่าน white paper ของบริษัทที่เสนอขายโทเค็น แล้วมาวิเคราะห์ให้ฟัง เปรียบเหมือน rating agency ในปัจจุบัน ดังนั้น การพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นจะต้องสร้างระบบนิเวศให้สมบูรณ์ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการลงทุนแบบไม่รู้เรื่อง แบบเสี่ยงสูง

สำหรับแนวทางการกำกับดูแลที่ตนคิดว่าโลกในอนาคตน่าจะเดินไป คือ 1.การให้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ตรงความต้องการของผู้ใช้งาน และครบถ้วน 2.ต้องเป็น market force โดยภาครัฐต้องมีกรอบกว้าง ๆ ว่าข้อมูลสำคัญในการทำธุรกิจที่ต้องรายงานมีอะไรบ้าง และต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ

โดยให้มีบริษัทที่ทำหน้าที่มารีวิว วิเคราะห์ข้อมูลแต่ละตัว เหมือนเป็นการเปรียบเทียบ และนักลงทุนก็เลือกที่จะลงทุนในแต่ละบริษัท บนพื้นฐานข้อมูลที่มีคนวิเคราะห์ ใครทำดี ก็จะได้ premium ทำไม่ดีก็ถูก discount

“ผมว่าระบบศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จะไปในมุมแบบนี้มากกว่า แทนที่จะเป็นผู้กำกับมาออกกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ตลอดเวลา เพราะจะไม่มีทางตามทันได้เลย แต่ที่สำคัญคือ ผู้กำกับดูแลต้องรู้ว่า กรอบและข้อมูลที่สำคัญ เรื่องที่สำคัญมีเรื่องอะไรบ้าง บอกไว้เป็นไกด์ไลน์”

ตลาดหุ้นไทยยังมีจุดเด่น

ส่วนที่มองกันว่าตลาดหุ้นไทยเสน่ห์ลดลงนั้น นายภากรกล่าวว่า ตลาดทุนไทยไม่ได้มีความน่าสนใจน้อยลง เพราะว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าตามราคาตลาด (market cap) ที่ใหญ่ขึ้นมาก ตอนนี้อยู่ที่ 20 ล้านล้านบาท

และกิจการที่เข้ามาจดทะเบียนเพื่อซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นครั้งแรก (IPO) เข้ามาระดมทุน ก็มีมูลค่าตลาดต่อปี ไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนล้านบาท ติดต่อกันมา 4-5 ปีแล้ว และมีบริษัทที่น่าสนใจในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเพิ่มขึ้นมาก

รวมถึงในตลาดรองก็ไม่ได้น้อย IPO ก็มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาทเหมือนกัน สภาพคล่องก็เพิ่มขึ้นจาก 60,000 ล้านบาท ขึ้นมาเป็น 90,000 ล้านบาทต่อวัน

“การมองว่าตลาดทุนไทยไม่เซ็กซี่ คิดว่าเป็นแค่ในบางมุมมอง ซึ่งถ้าจะบอกว่าเพราะเราไม่มีหุ้นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาก ๆ แน่นอนว่าเราไม่มี แต่ปัจจุบันก็มีไม่กี่ประเทศที่มี แต่ของที่ตลาดหุ้นไทยมี ที่ดี ๆ และน่าสนใจอย่างเช่น พวกเกี่ยวกับการเกษตร แพ็กเกจจิ้ง บริการ สุขภาพ หรือแม้แต่โลจิสติกส์ กลุ่มธุรกิจพวกนี้ของไทยดีมาก ๆ และใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว แถมไม่ได้ทำธุรกิจแค่เฉพาะภายในประเทศแต่ยังทำธุรกิจในทั่วโลก ผมจึงมองว่าตลาดหุ้นไทยไม่ได้ ไม่น่าสนใจขนาดนั้น เพียงแต่ของใหม่ ๆ ยังเห็นไม่มากนัก แต่ไม่ใช่ไม่มี ก็มีบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเทคโนโลยีเล็ก ๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะค่อย ๆ พัฒนาไป” กรรมการและผู้จัดการ ตลท.กล่าว