เงินบาทอ่อนค่าหลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย

เงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 24-28 มกราคม 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (24/1) ที่ระดับ 33.00/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/1) ที่ระดับ 32.97/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากนักลงทุนเฝ้าจับตาการประชุมเฟดในวันที่ 25-26 มกราคม เพื่อดูความชัดเจนและทิศทางในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังข้อมูลเศรษฐกิจเมื่อสัปดาห์ที่แล้วบ่งชี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนธันวาคมพุ่งขึ้นรายปีมากที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี

ซึ่งหลังจากผลประชุมเฟดออกมาในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าสู่ระดับ 33.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเฟดได้แถลงผลการประชุมโดยระบุว่า คณะกรรมการเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และยังคงปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จำนวน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะส่งผลให้การทำ QE ของเฟดสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม พร้อมกับระบุการเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนดังกล่าวเช่นกัน โดย Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมีนาคม พร้อมกับคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งภายในปีนี้

นอกจากนี้ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินว่า “ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน และเฟดไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่า อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในเดือนมีนาคมเมื่อพิจารณาจากการพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อ”

ในส่วนของตัวเลขทางเศรษฐกิจนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผย ตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ของสหรัฐขยายตัว 6.9% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.5% โดยเศรษฐกิจสหรัฐได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมทั้งการที่ภาคธุรกิจเพิ่มเติมสต๊อกสินค้าคงคลัง เมื่อพิจารณาทั้งปี 2564 ตัวเลข GDP สหรับขยายตัว 5.7% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2527 หลังจากที่หดตัว 3.4% ในปี 2563 ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ ในช่วงปลายสัปดาห์

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ธ.ค. 64 พบว่าการส่งออกขยายตัวได้ 24.2% มาที่มูลค่า 24,930 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกทั้งปี 64 ขยายตัวถึง 17.14% ทะลุเป้าหมาย คิดเป็นมูลค่ารวม 2.71 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ กระทวงการคลังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 4.0% จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศ และภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวได้อีก หลังจากรัฐบาลได้เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ สามารถกลับเข้ามาเที่ยวในประเทศผ่านรูปแบบ Test & Go ได้อีกครั้งโดยเริ่มต้นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.83-33.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (28/1) ที่ระดับ 33.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (24/1) ที่ระดับ 1.1335/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/1) ที่ระดับ 1.1340/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรทรงตัวในช่วงต้นสัปดาห์ระหว่างรอผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ แต่ในช่วงกลางสัปดาห์ค่าเงินยูโรถูกกดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างยูเครนและรัสเซีย และยังคงเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่าในช่วงปลายสัปดาห์หลังจากประธานเฟดส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่เคยได้คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ค่าเงินยูโรปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1.1144 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอในแถบยูโรโซนได้สร้างความกดดันเพิ่มเติมหลังจาก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงอยู่ในแดนลบที่ระดับ -6.7 ประกอบกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ PMI รวมภาคการผลิตและบริการของยูโรโซนร่วงลงสู่ระดับ 52.4 ในเดือนมกราคมจากระดับ 53.3 ในเดือนธันวาคม นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าทางธนาคารกลางยุโรป จะยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในแถบยูโรโซน โดยทางอีซีบีมองว่าในระยะกลางนั้นอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1133-1.1319 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/1) ที่ระดับ 1.1133/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (28/1) ที่ระดับ 113.79/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/1) ที่ระดับ 113.96/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ตลาดกำลังรอความชัดเจนจากทางเฟดเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมีนาคม ซึ่งตลาดได้รับรู้ไปแล้ว

โดยในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าเนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความวิตกกังวลปัญหายูเครนและรัสเซีย แต่หลังจากผลประชุมเฟดออกมาในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าหลังจากบอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นขานรับคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจขยายการประกาศภาวะกึ่งฉุกเฉินครอบคลุม 34 จังหวัดจากทั้งหมด 47 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเพิ่มอีก 18 จังหวัด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลให้ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าสู่ระดับ 115.24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ


ในส่วนของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงเลือกที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultraloose Monetary Policy) ซึ่งรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ประมาณ 0% โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฉุดให้ต้นทุนการกู้ยืมอยู่ในระดับต่ำ เพื่อช่วยเหลือบริษัทเอกชนและภาคครัวเรือน โดยความแตกต่างทางทิศทางนโยบายการเงินระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่นนั้น จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกดดันค่าเงินเยนในปีนี้ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.73-115.63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/1) ที่ระดับ 115.63/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ