KKP มองจีดีพีโต 3.9% จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง บาทผันผวน-เงินเฟ้อ-เศรษฐกิจจีน

เศรษฐกิจ
Photo by Jack TAYLOR / AFP

KKP ประเมินจีดีพีไทยปี 65 กลับสู่ภาวะปกติขยายตัว 3.9% มองโอมิครอนเป็นโรคประจำถิ่น หนุน 2 เครื่องยนต์ การบริโภค-การลงทุนฟื้นตัว จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง “ส่วนต่างดอกเบี้ยไทย-สหรัฐ-เศรษฐกิจจีนชะลอตัว-ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์” ดันเงินไหลออก-บาทผันผวน-พลังงาน-เงินเฟ้อพุ่ง

วันที่ 31 มกราคม 2565 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 มองว่า มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้นหลังเผชิญการระบาดของโควิด-19 มาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

โดยประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ขยายตัวอยู่ที่ 3.9% มีเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนจาก 2 ตัว คือ การบริโภคและการลงทุน ซึ่งปี 2565 นี้น่าจะทยอยเข้าสู่ภาวะปกติ และนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาประมาณ 5.8 ล้านคน ที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาได้ในช่วงครึ่งหลังของปี

               

จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง โควิด-เงินเฟ้อ-เศรษฐกิจจีน

อย่างไรก็ดี ภาพการเติบโตในปี 2565 มีแนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ

1.โรคโควิด-19 จากโรคระบาดกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งจะทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวดีขึ้น โดยสายพันธุ์โอมิครอนมาเร็วและแรง (Fast & Furious) แม้จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ไม่ได้ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหายไป

อย่างไรก็ตาม หากการกลายพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งกระทบต่อการบริโภค และการใช้มาตรการภาครัฐที่เข้มข้น อาจทำให้แสวงสว่างที่ปลายอุโมงค์เป็นของปลอมได้

2.ทิศทางสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น หลังจากเจอแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นไปแตะระดับ 7% สูงสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย และลดงบดุล ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4-5 ครั้ง และมีนักวิเคราะห์บางแห่งประเมินว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยสูงถึง 7 ครั้ง จากดอกเบี้ยระดับ 0% ไปสู่ระดับ 1.75% ในปีนี้ และปีหน้าปรับขึ้นอีก 4 ครั้ง รวมดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 2.75%

ดังนั้น จากแนวโน้มส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยที่เกิดขึ้น ภายใต้สมมติฐานปลายไตรมาสที่ 1 และต้นไตรมาสที่ 2 จะส่งผลให้เกิดความผันผวนของค่าเงินได้ เนื่องจากกระแสเงินทุนจะไหลออกไปยังผลตอบแทนที่สูงกว่า ทำให้เห็นความผันผวนของค่าเงินได้ จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาดู

“แนวโนม้มเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว แต่เผชิญปัญหา stagflation คือเงินเฟ้อขยับ แต่เศรษฐกิจยังไม่ได้ดีขึ้น เพราะคนกลุ่มรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น โดยคาดว่าเงินเฟ้อไตรมาสที่ 1/65 จะขยับแตะ 3% เป็นกรอบบน แต่เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงยังไม่ได้ทำอะไร เพราะยังให้ความสำคัญกับการเติบโตเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ซึ่งภายหลังเฟดปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้เกิดส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐ จะสร้างความผันผวนต่อเงินทุนและค่าเงินบาทได้”

3.แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในระดับ 3.9% จะมาจากการกลับเข้าสู่ภาวะปกติของอุปสงค์ คือ การบริโภคและการลงทุน โดยสิ่งสำคัญจะต้องไม่เกิดการหยุดชะงัก และโอมิครอนเป็นเวฟสุดท้าย รวมถึงนักท่องเที่ยวจะเดินทางกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยคาดว่าจะเข้ามา 5.8 ล้านคน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาเติบโตสู่ระดับก่อนโควิด-19 แต่ยังต้องติดตามเศรษฐกิจจีนที่กังวลจะชะลอตัวกว่าคาด ซึ่งไทยตั้งความหวังนักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาในปี 2566

“เศรษฐกิจปี 65 เราเชื่อว่ามีความหวังมากขึ้น จากปี 2563 จีดีพี -6% และปี 2564 กลับมาขยายตัวได้ 1% ก็ยังคงหดตัวอีก 5% และปีนี้จะโตได้ 3.9% แม้ว่าการฟื้นตัวจะเข้าสู่ภาวะปกติ แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง บางอุตสาหกรรม เช่น ภาคบริการยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การว่าง’koยังสูง แม้ว่าเศรษฐกิจมีความหวังมากขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยง 3 ด้านที่ต้องติดตาม ทั้งโควิดที่อาจไม่ได้เป็นโรคประจำถิ่น เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และเงินเฟ้อที่ไม่ได้ปรับลดลง ทำให้นโยบายเฟดต้องเหยียบคันเร่งเร็วและแรงขึ้น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีผลต่อราคาพลังงาน” ดร.พิพัฒน์กล่าว