“หุ้นค้าปลีก” ตีปีกยอดขายฟื้น “รัฐกระตุ้น-เงินเฟ้อ” ดันบริโภค

หุ้นค้าปลีกยอดขายเทิร์นอะราวนด์อานิสงส์บริโภคฟื้น จาก “รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ” โบรกฯ “บล.กสิกรไทย” ประเมินยอดขายสาขาเดิมเทิร์นอะราวนด์ทั้งกลุ่ม ขณะที่ “บล.ทรีนีตี้” ชี้ผลสำรวจแบงก์ชาติแรงหนุน “ช้อปดีมีคืน” แทบเป็นศูนย์ หลังมีปัจจัยเสี่ยงจากสินค้าราคาแพงเข้ามาแทรก

นางสาวธรีทิพย์ วงษ์แสงไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ปีใหม่มา ภาพรวมการบริโภคในประเทศดีขึ้นชัดเจนในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตลอดจนมีมาตรการของรัฐเข้ามาสนับสนุน อย่างเช่น โครงการช้อปดีมีคืน ก็ถือได้ว่าเป็นปัจจัยหนุน แต่ก็หวังประโยชน์ได้แค่ประมาณ 1-5% ของยอดขายในช่วงที่มีมาตรการ ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์ จะหมดมาตรการ

นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขการบริโภคโตขึ้น จากราคาสินค้าที่ขยับขึ้น ดังนั้น จึงถือว่ามีหลายปัจจัยที่ผลักดันการฟื้นตัว ในส่วนการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (SSSG) ของกลุ่มค้าปลีก โดยปีนี้ SSSG กลุ่มค้าปลีกอยู่ในทิศทางฟื้นตัวพลิกกลับ (turn around) ได้ทั้งหมด เห็นได้จากตัวเลขไตรมาส 1/2565 ที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564

นางสาวธรีทิพย์กล่าวว่า จากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคกับมาตรการช้อปดีมีคืน มีแนวโน้มจะใช้จ่ายผ่านห้างสรรพสินค้ามากที่สุด โดยเฉพาะห้างที่จัดโปรโมชั่นร่วม โดยมองว่า บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) น่าจะได้ประโยชน์มากพอสมควร ส่วนที่อาจได้ประโยชน์น้อยสุด คือ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ที่ทำธุรกิจร้านสะดวกซื้อ เพราะการใช้จ่ายต่อบิลค่อนข้างน้อย

ขณะที่การใช้จ่ายต่อบิลขนาดกลางในกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตและธุรกิจปรับปรุงบ้าน (home improvement) จะได้ประโยชน์บ้าง แต่ไม่มากนัก รวมไปถึงธุรกิจอื่น เช่น สินค้าแก็ดเจต, ร้านอาหาร เป็นต้น

ขณะที่โครงการคนละครึ่ง บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) น่าจะได้ประโยชน์ทางอ้อมที่สุด เพราะกลุ่มลูกค้าร้านอาหารขนาดเล็ก หรือผู้ค้ารายย่อยที่รับมาตรการคนละครึ่ง มีแนวโน้มซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น โดยคาดหวัง SSSG ของแม็คโคร ปีนี้ประมาณ 4% ใกล้เคียงปีก่อน หลัก ๆ มาจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จากการเปิดเมืองใช้มาตรการ test & go ให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งจะค่อย ๆ ชดเชยมาตรการรัฐที่มีผลน้อยลงไปได้

“ราคาหุ้นค้าปลีกตอนนี้เริ่มสะท้อนการฟื้นตัว จากการล็อกดาวน์ไปแล้วพอสมควร แต่ยังมีอัพไซด์ต่อได้ จึงมองบวกทั้งกลุ่ม แต่ที่ชอบและแนะนำซื้อคือ CPALL ราคาเป้าหมายที่ 73 บาท และ HMPRO ที่ราคา 17.2 บาท” นางสาวธรีทิพย์กล่าว

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า อ้างอิงข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีการสำรวจผู้ประกอบการในช่วงเดือน ม.ค. 2565 พบว่า แรงหนุนจากมาตรการช้อปดีมีคืนแทบเป็นศูนย์ เพราะมีปัจจัยเสี่ยงด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้นแทรกเข้ามาตั้งแต่ต้นปี ทั้งจากสินค้าจำเป็นและสินค้าอาหารที่ปรับราคาขึ้น ดังนั้น ด้วยความระมัดระวังการใช้จ่ายของผู้บริโภค จึงทำให้แรงหนุนช้อปดีมีคืนน้อยลงไป ดังนั้น หุ้นค้าปลีกอาจไม่ได้ประโยชน์มากนัก

“ถ้าจะลงทุนต้องพิจารณาหุ้นค้าปลีกที่ราคาลงมาจนมูลค่าหุ้นลงลึกมาก ๆ (deep discount) เช่น MAKRO เป็นต้น โดยไม่ควรหว่านแหทุกตัวในช่วงเวลานี้ เพราะมีปัจจัยเสี่ยงที่รออยู่ จากค่าครองชีพที่สูงขึ้นออกไปได้ ซึ่งเมื่อไรที่ผู้บริโภคเล็งเห็นว่าค่าใช้จ่ายในอนาคตจะสูงขึ้น มักจะมีการระมัดระวังการใช้จ่ายในปัจจุบันด้วย” นายณัฐชาตกล่าว

“กรอบระยะเวลาโครงการช้อปดีมีคืนแค่ 1 เดือน 30 วัน ต่อการใช้จ่าย 30,000 บาท บางคนไม่ต้องมีการใช้จ่ายพิเศษ (extra spending) ก็ใช้จ่ายครบอยู่แล้ว จึงไม่ก่อให้เกิดการใช้จ่ายพิเศษในระดับสูง ทั้งนี้ มองว่าโครงสร้างของโครงการไม่ค่อยตอบโจทย์ และเวลาบังคับใช้ไม่เหมาะสม ควรจะเป็นช่วงปลายปีมากกว่า” นายณัฐชาตกล่าว

สำนักวิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า รัฐบาลอนุมัติวงเงินกู้กว่า 5.3 หมื่นล้านบาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและบรรเทาภาระค่าครองชีพ เพื่อจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่

1.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 วงเงิน 34,800 ล้านบาท

2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อแก่กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ วงเงิน 8,070 และ 1,352 ล้านบาทตามลำดับ

และ 3.โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 4 วงเงิน 9,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าผลบวกจากมาตรการ จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เป็นอย่างต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท