หนี้เสียรายย่อยท่วม 7 แสนล. สกรีนเข้มบัตรเครดิต-พีโลน

“เครดิตบูโร” เปิดตัวเลขหนี้เสียรายย่อยทั้งระบบแบงก์-น็อนแบงก์พุ่งแตะ 7.2% ทะลุ 7.3 แสนล้านบาท สัญญาณเอ็นพีแอลยังไหลไม่หยุด คาดพุ่งสูงสุดช่วง Q 2/61 บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล ยังเจอหนี้เน่าปูด แบงก์สกรีนเข้มฉุดยอดอนุมัติบัตรลดฮวบ แถมตัวเลขใช้วงเงินโอดีติดลบ ธุรกิจไม่ลงทุน-แบงก์เรียกคืนวงเงินป้องกันหนี้เสีย

หนี้เสียรายย่อยทะลุ 7 แสนล้าน

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมลูกหนี้สินเชื่อของสถาบันการเงินทั้งระบบ ซึ่งรวมธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้บริการด้านการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) และธนาคารรัฐ ล่าสุด ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2560 พบว่าลูกหนี้สินเชื่อรายย่อยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก มาอยู่ที่ระดับ 7.2% ของมูลค่าสินเชื่อรวม 11 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าเอ็นพีแอลราว 7.3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ตัวเลขเอ็นพีแอลปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 6.8% หรือคิดเป็นมูลค่า 6.5-6.6 แสนล้านบาท โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 ปี นับตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2558 ที่เอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 4.4 แสนล้านบาท โดยหากดูไส้ในหลัก ๆ แล้ว เอ็นพีแอลส่วนใหญ่มาจากกลุ่มน็อนแบงก์มากสุด เช่นสินเชื่อบุคคล สินเชื่อเงินผ่อนต่าง ๆ ทำให้เอ็นพีแอลปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) หมายถึงหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ยังเพิ่มขึ้นหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยล่าสุดมาอยู่ที่ 2.7% ขณะที่ยอดการปรับโครงสร้างหนี้ก็ปรับขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่ง ณ ไตรมาสที่ 3/2560 อยู่ที่กว่า 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้เพียง 1.5 แสนล้านบาท สะท้อนว่าลูกหนี้รายย่อยยังมีความอ่อนแอ ทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้น ทำให้เชื่อว่าเอ็นพีแอลจะยังไหลต่อ โดยคาดว่าจะเห็นเอ็นพีแอลสูงสุดในไตรมาสที่ 2/2561 หรือเร็วที่สุดในไตรมาสแรก

“ถ้าเอ็นพีแอลจะพีก ตัวเลขปรับโครงสร้างหนี้จะต้องไม่เพิ่มขึ้นแบบนี้ และ SM ต้องทรงตัว แต่ขณะนี้ยังเห็นทั้งสองตัวเลขปรับขึ้น หมายความว่ายังมีลูกหนี้ที่อ่อนแอไปไม่ไหวต้องกลายเป็นเอ็นพีแอล” นายสุรพลกล่าว

แบงก์เข้มปล่อยกู้รูดปรื๊ด-พีโลน

นายสุรพลกล่าวว่า กลุ่มที่น่าห่วง และแบงก์มีการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากที่สุด คือกลุ่มสินเชื่อบุคคล ซึ่งพบว่า จำนวนบัญชีที่เป็นเอ็นพีแอลปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดมีบัญชีที่เป็นเอ็นพีแอลรวมถึง 2.5 ล้านบัญชี มากที่สุดคือ กลุ่มเจนวาย ช่วงอายุ 20-37 ปี โดยมีบัญชีที่เป็นเอ็นพีแอล 1.3 ล้านบัญชี ขณะที่เจนเอ็กซ์ (อายุ 38-52) มีบัญชีที่เป็นเอ็นพีแอลถึง 9 แสนบัญชี และเบบี้บูมเมอร์ มีหนี้เสีย 3 แสนบัญชี ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ต้องออกมาตรการแรง ๆ ในส่วนสินเชื่อบุคคล เพราะเป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียค่อนข้างมาก

สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตช่วง 9 เดือนแรกยอดอนุมัติบัตรใหม่อยู่เพียง 1.35 ล้านใบ ดังนั้นปีนี้ทั้งปีไม่น่าเกิน 1.8 ล้านใบ จากปีที่ผ่านมามีการอนุมัติบัตรเครดิตอยู่ที่ 2.12 ล้านใบ ซึ่งยังคงสะท้อนให้เห็นว่าแบงก์เข้มงวดการออกบัตรใหม่ และสกรีนลูกค้าเข้มงวด ทำให้ยอดการอนุมัติบัตรน้อยลง แม้ช่วงปลายไตรมาสที่ 3 แบงก์จะเร่งการอนุมัติบัตรก่อน ธปท.ออกเกณฑ์คุมการปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลก็ตาม แต่การอนุมัติบัตรยังอยู่ระดับต่ำ

ขณะที่เอ็นพีแอลบัตรเครดิตพบว่า เจนวายมีหนี้เสียที่ 4.5 แสนบัญชี, เจนเอ็กซ์หนี้เสียเกือบ 5 แสนบัญชี ซึ่งสอดคล้องกับมูลค่าเอ็นพีแอลที่สูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน

ในส่วนของสินเชื่อรถยนต์มีสัญญาณการเติบโตหลังจากชะลอตัวมานาน โดยไตรมาสที่ 3/2560 สินเชื่อรถยนต์มีการเติบโต 1.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่คุณภาพหนี้ที่เป็นหนี้เสียอยู่ราว 1 ล้านสัญญา โดยเป็นกลุ่มลูกหนี้เจนวาย และเจนเอ็กซ์ อย่างละ 4 แสนสัญญา ส่วนลูกหนี้สินเชื่อบ้าน เอ็นพีแอลยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยหลักอยู่ที่เจนวายและเจนเอ็กซ์เช่นกัน

ตัดวงเงิน OD-ปิดเสี่ยง NPL

นายสุรพลกล่าวว่า ด้านสินเชื่อภาคธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล พบว่าในการเบิกใช้วงเงิน OD หรือวงเงินเบิกเกินบัญชีในไตรมาสที่ 3/2560 ยอดเบิกวงเงินลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.2% มาอยู่ที่ 6.17 แสนล้านบาท สะท้อนว่าภาคธุรกิจมีการเบิกใช้วงเงินน้อย เพราะค้าขายหรือทำธุรกิจไม่ดี จึงไม่มีการลงทุนเพิ่ม หรืออีกด้านก็เป็นเพราะสถาบันการเงินมีการปรับลดวงเงิน OD เนื่องจากเห็นความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจ

ทั้งนี้คุณภาพหนี้ของภาคธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลจากข้อมูลของเครดิตบูโร พบว่าเอ็นพีแอล ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 4.7% น่าจะเป็นระดับที่พีกแล้ว เนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้แบงก์สามารถคุมอยู่ทำให้ SM ทรงตัว สำหรับกลุ่มธุรกิจที่น่าเป็นห่วงก็คือ ธุรกิจพาณิชย์ ซึ่งเกี่ยวกับซื้อมาขายไป ซึ่งเมื่อกำลังซื้อในประเทศไม่ฟื้นก็ทำให้การค้าขายไม่คล่อง และกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ยังน่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันมีสต๊อกเก่าอยู่ค่อนข้างมาก อีกทั้งแบงก์ยังมีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถโอนหรือปิดการขายได้ ทำให้การขายอสังหาฯค่อนข้างยากในปัจจุบันโดยเฉพาะในตลาดกลาง-ล่าง

นายสุรพลยังกล่าวเพิ่มเติมถึงภาพรวมการเข้ามาดูข้อมูลเครดิตบูโรของสถาบันการเงินว่า แบงก์มีการตรวจดูข้อมูลลูกค้าเก่าเพื่อบริหารความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย 9 เดือนที่ผ่านมา มีการดูข้อมูลลูกค้าเก่าอยู่ที่ 32.19 ล้านครั้ง และคาดว่าทั้งปีจะมากกว่า 43 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2559 เกือบ 1 ล้านครั้ง ที่มีการดูประวัติลูกค้าเก่าที่ 42.15 ล้านครั้ง สะท้อนได้ว่าแบงก์ยังคงมีความระมัดระวังในการเข้าไปปล่อยกู้ใหม่ให้กับลูกค้าเก่า ผ่านการดูข้อมูลที่เข้มงวดมากขึ้น

เช่นเดียวกับการตรวจข้อมูลลูกค้าใหม่เพื่อการวิเคราะห์สินเชื่อและอนุมัติสินเชื่อ ที่ล่าสุดอยู่ที่ 10.70 ล้านครั้ง จากปีก่อนทั้งปีที่ 13.26 ล้านครั้ง โดยปีนี้คาดว่าการตรวจข้อมูลลูกค้าใหม่จะอยู่ที่ 12.5 ล้านครั้ง ซึ่งอาจประเมินได้ว่า ปีนี้การอนุมัติสินเชื่อใหม่ของแบงก์น้อยลง