เจาะลึก 9 มิติพลิกฟื้นลงทุนไทย รับมือเศรษฐกิจเสี่ยงโตช้าถาวร

คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : ชลิดา แท่งเพ็ชร 
รัตติยากร ลิมัณตชัย 
พิรญาณ์ รณภาพ 
เกริกเกียรติ พรหมมินทร์ 
สาระ จิตกรีสร
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค 
ธนาคารแห่งประเทศไทย

การลงทุนของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ โดยสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และหากปล่อยไว้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงที่จะโตช้าลงถาวร การจะพลิกฟื้นการลงทุนจะต้องทำให้ประเทศไทยมีความคุ้มค่าที่จะลงทุน กล่าวคือ มีผลตอบแทนที่สูงขึ้น และมีความเสี่ยงต่ำลง (higher return and lower risk) ซึ่งผลตอบแทนที่สูงขึ้นต้องอาศัยรายได้ที่สูงขึ้นและค่าใช้จ่ายที่ลดลง

จากข้อมูลในอดีตพบว่าผลตอบแทนของการลงทุนในภาคธุรกิจไทยในภาพรวมลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนของการลงทุนอยู่ในระดับสูง ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนในไทยลดลง

โดย 10 ปีที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ของธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีแนวโน้มลดลงและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต นอกจากนี้ประเทศไทยมีค่าความไม่แน่นอน (uncertainty) สูงกว่าค่ากลางของประเทศในอาเซียน

บทความนี้จะเจาะลึกปัจจัยที่ช่วยพลิกฟื้นการลงทุนไทยภายใต้แนวคิดที่จะทำให้การลงทุนคุ้มค่า โดยคณะผู้เขียนได้วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลจากหลายแหล่ง ประกอบกับการสำรวจความเห็นจากผู้ประกอบการ สรุปเป็น 9 มิติสำคัญที่ควรมุ่งเน้นพัฒนา ดังนี้

แนวทางเพิ่มรายได้ (revenue)

1) เพิ่มกำลังซื้อในเศรษฐกิจไทย เพราะปัจจุบันไทยมีกำลังซื้อที่อ่อนแอลง เป็นผลจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย และครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สูง รวมทั้งมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และรูรั่วจากการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานต่างด้าว

2) เพิ่มความสามารถในการสร้างนวัตกรรม เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ และช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดสินค้าใหม่ ๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ของภาคธุรกิจ ทั้งนี้ ไทยยังมีเงินลงทุนด้าน R&D ที่ต่ำ ส่วนหนึ่งเพราะขาดแคลนบุคลากรด้าน R&D รวมทั้งมีปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

3) พัฒนาการเข้าถึงลูกค้าในตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีข้อจำกัดจากทั้งข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่น้อยและการประยุกต์ใช้การค้าออนไลน์ข้ามประเทศ (cross-border e-commerce) ที่ยังต่ำ

ต้นทุน (cost) สำคัญที่ควรลดลง

4) ต้นทุนในการติดต่อประสานงานกับภาครัฐ จากกฎระเบียบที่ล้าสมัยและปัญหา corruption

5) ต้นทุนด้านแรงงาน โดยภาคธุรกิจไทยเผชิญกับต้นทุนการจ้างงานที่สูง เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคและผลิตภาพของแรงงาน อีกทั้งยังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูง

6) ต้นทุนทางการเงิน ยังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะต้นทุนเงินทุนของส่วนของผู้ถือหุ้น (cost of equity) ขณะที่ SMEs ยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อ

7) ต้นทุนการขนส่ง ยังสูง ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างพื้นฐานที่ยังต้องพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะระบบราง ซึ่งหากไทยพัฒนาและเพิ่มการขนส่งทางรางจะช่วยประหยัดต้นทุนการขนส่งได้มาก

8) กระบวนการด้านภาษี ยังซ้ำซ้อนและยุ่งยาก ซึ่งอาจเพิ่มต้นทุนแฝงให้กับภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี แรงจูงใจด้านอัตราภาษีของไทยยังแข่งขันกับประเทศอื่นได้

ความเสี่ยงและความไม่แน่นอน (Risks & Uncertainty) ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ

9) ความไม่แน่นอนของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยส่วนใหญ่มาจากเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านช่องทางการลงทุนและการส่งออกเป็นสำคัญ

โดยสรุปช่วงที่ผ่านมา ภาคธุรกิจในไทยลงทุนน้อยเนื่องจากรายได้เติบโตต่ำ และแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูง รวมทั้งเผชิญกับความไม่แน่นอนบ่อยครั้ง ในการสนับสนุนการลงทุนไทยต้องพัฒนาปัจจัยสำคัญหลายมิติและจำเป็น
ต้องได้รับแรงผลักดันจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ประเทศไทยมีความคุ้มค่าที่จะลงทุน

โดยที่ผ่านมาการผลักดันการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้สร้างความมั่นใจและเริ่มแก้ไขปัญหาบางด้าน เช่น การเชื่อมโยงระบบคมนาคมและพัฒนาระบบราง การพัฒนาทักษะแรงงาน อย่างไรก็ตาม การลงทุนยังจำกัดในพื้นที่ EEC เป็นหลัก การเพิ่มการลงทุนและขยายการลงทุนไปสู่พื้นที่อื่น ๆ เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อฟื้นฟูศักยภาพเศรษฐกิจไทย กระจายการเจริญเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ


(บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย)