เดินหน้าเต็มสูบ

คอลัมน์ เติมความคิดพิชิตการลงทุน

โดย พรเทพ ชูพันธุ์ บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)

มาถึงวันนี้ที่ดัชนี SET Index ปรับตัวสูงขึ้นมาวนเวียนอยู่แถว 1700 จุด +/- ได้ตามเป้าหมายของปี 2560 ที่เราเคยให้ไว้เมื่อตอนเขียนรายงานแนวโน้มตลาดหุ้นเมื่อปลายปีก่อน ซึ่งหากคิดเป็นผลตอบแทนก็ราว ๆ 10% (ถ้ารวมปันผลก็น่าจะราว ๆ 13%)

แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่า ผลตอบแทนที่ดีขนาดนี้กลับเป็นอันดับปลายแถวเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างทั่วหน้า เช่น ญี่ปุ่น (17%), ฮ่องกง (30%), เกาหลี (23%), อินเดีย (24%), อินโดนีเซีย (14%) ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นไทยเริ่มดูเหมือนจะไม่แพงแล้วเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ โดยค่า Forward Price-to-Earnings Ratio (PE ratio ที่รวมผลของการเติบโตของกำไรในปีหน้าด้วย) ของไทยเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ แล้วนับว่าอยู่กลางกลุ่มพอดี

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นทั่วโลกในปีหน้า ยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นต่อจากปีนี้ โดยปัจจัยสนับสนุน นอกจากจะมาจากสัญญาณการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้นแล้ว ยังมีเรื่องของความผิดหวังจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นความดีใจ เมื่อการผ่านกฎหมายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่รอคอยมานาน น่าจะประกาศเป็นกฎหมายได้ภายในสิ้นปีนี้หรืออย่างช้าก็ไตรมาสที่ 1 ปี 2561

ซึ่งนอกจากจะทำให้อัตรากำไรของบริษัทต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้นแล้ว ยังอาจส่งผลทางอ้อมถึงเม็ดเงินที่จะไหลเข้าตลาดหุ้นด้วย ซึ่งเกิดจากการที่ภาษีที่ลดลง ทำให้รัฐบาลสหรัฐอาจต้องกู้เงินด้วยการออกพันธบัตรมากขึ้น ซึ่งเมื่อประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐ ได้เริ่มดูดสภาพคล่องออก (quantitative tightening) และการขึ้นดอกเบี้ย (น่าจะราว 3 ครั้ง ครั้งละ 25bps ในปี 2561)

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่น่าจะเริ่มปรับตัวขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็น่าจะประสานแรงกันส่งให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น (ส่งผลลบต่อราคาตราสารหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ต้องคิดราคาตราสารหนี้ตามราคาตลาดทุกสิ้นวัน) ทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่จะเป็นแรงสนับสนุนให้มีเม็ดเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้มายังตลาดหุ้นที่แม้อาจถูกกระทบจากอัตราดอกเบี้ย (ต้นทุนทางการเงิน) ที่สูงขึ้นบ้าง แต่จะได้รับอานิสงส์เต็ม ๆ จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทั่วโลก และยังได้รับแรงกระตุ้นเพิ่มขึ้นจากนโยบายการคลัง

สอดคล้องกลับแรงส่งทางเศรษฐกิจจากทั่วโลก เศรษฐกิจไทยก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และกำลังเดินหน้าเต็มสูบเช่นกัน หลายคนที่เคยบอกว่า new normal ของเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ที่ราว 3% เท่านั้น แต่ในปี 2561 นี้ ผมว่ามีโอกาสไม่น้อยที่จะได้เห็นตัวเลขเศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่สูงกว่า 4% (แน่นอนครับ มันไม่กลับไปโต 5% เหมือนเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้น ย่อมมีอัตราเติบโตช้าลง เช่นเดียวกับจีนที่เมื่อก่อนเศรษฐกิจเติบโตปีละกว่า 10% แต่เดี่ยวนี้ก็มีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพที่ราว 6-7% ตามขนาดเศรษฐกิจที่ไม่เล็กเหมือนก่อน)

การเดินหน้าเต็มสูบในครั้งนี้ นอกจากจะมีแรงขับเคลื่อนการเติบโตจากพระเอกคนเก่าอย่างการส่งออก (รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ) ที่จะได้รับผลดีจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตต่อเนื่อง ก็ยังมีเรื่องวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ของไทยเข้ามาเป็นแรงสนับสนุน

ซึ่งนอกจากจะมีแนวโน้มดีขึ้นตามการส่งออกและการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นยังมีเรื่องของการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่กำลังจะมีกฎหมายรองรับ (ร่าง พ.ร.บ.EEC กำลังจะผ่านการพิจารณาของ สนช. อย่างเร็วก็ปลายปีนี้ อย่างช้าน่าจะไม่เกินไตรมาสที่ 1/2561) พร้อมกับเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้ รวมถึงการอนุมัติโครงการลงทุนที่น่าจะเปิดประมูลในปี 2561 เช่น โครงการสนามบินอู่ตะเภา โครงการ aerotropolis (มหานครทางการบิน) ตลอดจนรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิเข้ากับดอนเมืองและอู่ตะเภา

ทั้งหมดนี้จะทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นและน่าจะเห็นเม็ดเงิน FDI กลับมายังประเทศไทยอีกครั้ง นอกจากนี้เรายังเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของภาคธนาคาร ทั้งการเติบโตของการปล่อยกู้ (ภาคเอกชนทั้งบริษัทและครัวเรือนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยกู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น) และการปรับตัวดีขึ้นของหนี้เสียภาคธนาคารที่เริ่มมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลง


เราจึงมองว่า ตลาดหุ้นไทยน่าจะทะลุจุดสูงสุดตลอดกาล 1789 และขึ้นไปทดสอบระดับราว ๆ 1900 จุดได้ในปีหน้า โดยเราเลือกหุ้น top-pick ภายใต้ theme วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มธนาคาร (BBL KTB) กลุ่มพัฒนาอสังหาฯที่อยู่อาศัย (QH LPN) กลุ่มขนส่งทางราง (BTS) และผู้ได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอย่างกลุ่มประกันชีวิต (BLA)