“ธรัฐพร” ทรานส์ฟอร์ม SAM รับมือหนี้เสียพุ่ง ปักธง 3 ปีโตดับเบิล

บริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC เป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการหนี้เสีย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ AMC ได้ เพื่อรองรับหนี้เสียที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากผลกระทบโควิด-19 ภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้หมดลงในปี 2565 นี้

ล่าสุด “ธรัฐพร เตชะกิจขจร” ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) เมื่อกลางปี 2564 ที่ผ่านมา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงแนวโน้มหนี้เสียในระบบและทิศทางการดำเนินงานในระยะข้างหน้า

คาดหนี้เสียทะลัก 2 แสนล้าน

โดย “ธรัฐพร” กล่าวว่า เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงมีถึงสิ้นปี 2565 ทำให้การตัดขายหนี้เสียเข้าสู่ระบบในปีนี้อาจจะยังไม่สูงมาก โดยคาดการณ์จะอยู่ที่ราว 8-9 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี ภายหลังหมดมาตรการจะเริ่มเห็นหนี้เสียทยอยเพิ่มขึ้นในปี 2566 ซึ่งจะต้องจับตาตัวเลขหนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่มีอยู่กว่า 5-6 แสนล้านบาท ที่อาจจะตกชั้นเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หลังหมดมาตรการ

โดยคาดว่าจะมีเพียง 1 ใน 3 ที่สามารถกลับมาชำระปกติได้ ดังนั้นน่าจะกลายเป็นหนี้เสียราว 4 แสนล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวคาดว่าแบงก์จะตัดขายประมาณ 50% หรือราว 2 แสนล้านบาท สูงสุดเท่าที่มีมา เมื่อเทียบกับภาวะปกติที่อยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท

“เราไม่ได้ห่วงการซื้อหนี้เสียเท่าไร เพราะตอนนี้ก็รองรับไม่หมด โดยปี 2566 คาดว่าจะไหลสู่ระบบอีก 2 แสนล้านบาท ซึ่งผู้เล่น 4 เจ้าใหญ่น่าจะสามารถรองรับหนี้ที่มีหลักประกันได้ 70-80% โดยเราน่าจะขยายได้ 15% หรือราว 1.3-1.5 หมื่นล้านบาท

จากปัจจุบันมีทรัพย์เอ็นพีแอลและสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) อยู่ที่ราว 3.5 แสนล้านบาท ส่วนลูกหนี้เราก็พยายามยืดหนี้ให้ โดยที่ผ่านมาปรับโครงสร้างหนี้ซ้ำสูงสุด 5 รอบ ภายใน 2 ปี และยืดชำระจาก 5 ปี เป็น 7-9 ปี และคาดว่าจะต้องต่อโปรแกรมช่วยลูกหนี้ไปอีก 1 ปี”

เล็งออกบอนด์ 4 พันล้านบาท

“ธรัฐพร” กล่าวว่า SAM มีศักยภาพ (capacity) เพียงพอที่จะเข้าไปรับซื้อเอ็นพีแอลจากระบบ โดยปัจจุบันมีเงินทุนราว 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท และมีวงเงินกู้กับสถาบันการเงินอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท ที่สามารถเปิดใช้ได้

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการรองรับการดำเนินธุรกิจ บริษัทมีแผนจะระดมทุนผ่านการออกพันธบัตร (บอนด์) วงเงิน 4,000 ล้านบาท อายุ 3-5 ปี อัตราดอกเบี้ยกว่า 2% ต่อปี ภายในไตรมาสที่ 2-3 ซึ่งเป็นการออกบอนด์ครั้งแรก

โดยอาศัยจังหวะที่ตลาดยังไม่เขย่า เพื่อให้ตลาดได้รู้จัก โดยจะเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีสินทรัพย์สูง ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนจัดจ้างผู้จัดจำหน่าย (underwriting) และต้องดำเนินการขออนุมัติจากกรมบัญชีกลางด้วย

เล็งเป้า 3 ปี เติบโต 2 เท่า

สำหรับเป้าหมายระยะ 3 ปีข้างหน้า “ธรัฐพร” กล่าวว่า แผนที่เสนอคณะกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ไปนั้น SAM อยู่ในจุดที่จะต้อง transformation

เนื่องจากเครื่องยนต์การเติบโตตัวเดิมใช้มาแล้ว 20 ปี ทำให้เครื่องยนต์เดิมใช้ไม่ได้ ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะจัดงบฯลงทุนหลักร้อยล้านบาท เพื่อลงทุนสร้างระบบงานหลัก (core business)

ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มที่ต่อไปจะสามารถบริหารจัดการได้ทุกจุด และสามารถเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบังคับคดี ธนาคาร เป็นต้น

ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนกระบวนการเก็บข้อมูลและออกแบบ เพื่อจัดจ้าง vendor มาช่วยพัฒนาระบบ คาดว่าน่าจะได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งในอนาคตส่วนงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้คนจะขึ้นไปอยู่บนระบบทั้งหมด ทำให้บุคลากรที่มีอยู่ 570 คน

จะสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการให้ SAM เป็นองค์กรที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ธุรกิจและลูกค้า และคนทำงานอยู่แล้วมีความสุข

รวมถึงก้าวไปสู่เป้าหมายธุรกิจที่วางไว้ใน 3 ปี (2565-2567) ที่ทุกอย่างจะต้องเติบโตเป็น 2 เท่า ทั้งการรับซื้อหนี้เข้ามาบริหาร ที่จะเพิ่มเป็น 2.6 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.3-1.5 หมื่นล้านบาท และสามารถขายเอ็นพีเอได้ 7,000-8,000 ล้านบาท จากปัจจุบัน 3,000-4,000 ล้านบาท

“เรายังคงต้องรักษาการเป็นกลไกเครื่องมืออันดับ 1 ของภาครัฐในการช่วยบริหารจัดการหนี้เสียในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นนโยบายที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงและยังเติบโตตามนโยบาย เพราะเราเป็น AMC Arm หลักของภาครัฐ”

เดินหน้าถกแบงก์ตั้ง JVAMC

ส่วนการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (JVAMC) กับแบงก์ “ธรัฐพร” กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับแบงก์แล้ว 1 ราย และมีความคืบหน้าไปแล้ว 50% โดยอยู่ระหว่างเจรจาโครงสร้างธุรกิจ คาดไตรมาสที่ 3 นี้น่าจะเริ่มกระบวนการจัดตั้งได้

“โมเดล JVAMC ธปท.กระตุ้นให้แบงก์ปล่อยเอ็นพีแอลออกมา และช่วยปลดล็อกข้อจำกัด เพราะที่ผ่านมามีหลายปัจจัยที่แบงก์ดึงทรัพย์กลับ แต่โมเดลนี้แบงก์ก็จะ enjoy กับ benefit เพราะจากเดิมจะเป็นวิธีประมูลและถูกกดราคาส่วนลดเยอะ


ส่วนหนึ่งเพราะ AMC ไม่มีข้อมูล แต่โมเดลนี้เราจะมีข้อมูลลึกขึ้นและให้ราคาได้สูงขึ้น รวมถึงสามารถให้แบงก์เติมสภาพคล่องกับลูกค้าหากไปต่อได้ด้วย โดยการเทขายแบงก์จะทำได้ 2 ช่องทาง คือ ขายให้กับ JV และ open market อย่างไรก็ดี ไม่ควรตั้งเกิน 2 แห่ง เพราะจะต้องตั้งทีมเพื่อ run พอร์ต ส่วนขนาดทุนจดทะเบียนก็ขึ้นอยู่กับไซซ์ของหนี้ที่จะรับ” กรรมการผู้จัดการ SAM กล่าว