ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ตลาดรอติดตามผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 9 ก.พ.นี้ คาดว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมที่ 0.50% ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 32.94/32.96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/2) ที่ระดับ 32.93/95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/2) ที่ระดับ 33.05/07 บาท ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบเนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ โดยตลาดรอติดตามผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้

โดยคาดว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมที่ 0.50% แม้กระทรวงพาณิชย์จะเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค. พบว่า เพิ่มขึ้นด้วยอัตราสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ 3.23% ก็ตาม แต่สาเหตุหลักเงินฟ้อเพิ่มจากต้นทุนด้านพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นหลัก ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.52%

นอกจากนี้ค่าเงินบาทได้รับแรงสนับสนุนจากกระแสข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่มีแนวคิดที่จะล็อกดาวน์ประเทศพร้อมมีแนวทางอยากให้ประชาชนเริ่มให้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ ถึงแม้ว่า ณ ขณะนี้ตัวเลขการติดเชื้อโควิดจะอยู่ที่ระดับเกินกว่า 10,000 รายต่อวันก็ตาม

สำหรับปัจจัยในต่างประเทศ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นหลังนักลงทุนจับตากระทรวงแรงงานสหรัฐ ซึ่งมีกำหนดเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้เงินเฟ้อ ประจำเดือนมกราคมในวันพฤหัสบดี (10/2) นี้ โดยที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI จะพุ่งขึ้น 7.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2525

ส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมีนาคม ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี หลังจากที่เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งกว่าคาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 35% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมีนาคม จากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 14% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบระหว่าง 32.93-33.03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.94/32.96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (8/2) ที่ระดับ 1.1430/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/2) ที่ระดับ 1.1420/22 ระหว่างวันค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงหลังเมื่อวานนี้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีในเดือน ธ.ค. ออกมาลดลง 0.3% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4%

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรยังคงได้แรงหนุนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ที่นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้เปิดเผยในการประชุมรัฐสภายุโรปเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเงินว่า เงินเฟ้อในยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาด ส่งผลให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางยุโรปมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงสิ้นปี 2565

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1397-1.1435 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และเปิดตลาดที่ระดับ 1.1401/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/2) ที่ระดับ 115.25/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/2) ที่ระดับ 115.04/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนกลับมาอ่อนค่าเหนือระดับ 115.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐอีกครั้ง ท่ามกลางความแตกต่างของนโยบายทางการเงินระหว่าง BOJ และ FED

นอกจากนี้ ค่าเงินเยนยังถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศหลังกระทรวงฝ่ายกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นในเดือน ธ.ค.ปรับตัวลดลง 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเดือนที่ 5 ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 115.23-115.53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 115.37/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ มติอัตราดอกเบี้ยของ กนง. (9/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ม.ค. ของสหรัฐ (10/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของสหรัฐ (10/2), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐ (10/2), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (11/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.7/0.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.5/-0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ