คลังดีดลูกคิด “ลดภาษีดีเซล” ไม่สะเทือนเป้ารายได้

อาคม รมว.คลัง
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

“คลัง-สรรพสามิต” ประสานเสียงแลกลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาท 3 เดือนเพื่อดูแลเศรษฐกิจ เชื่อหากเศรษฐกิจฟื้นจะหนุนการเก็บรายได้ให้เข้าเป้า “อาคม” ชี้เก็บรายได้ 4 เดือนยังเข้าเป้า มั่นใจทั้งปียังอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ฟาก “อธิบดีสรรพสามิต” ยันไม่ขึ้นภาษีสินค้าอื่นมาโปะ แจงหากไม่ล็อกดาวน์ผลกระทบต่อรายได้สรรพสามิตจะมีไม่มาก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือนนั้น ในแง่ผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้คงจะต้องพิจารณาก่อนว่า การลดภาษีส่งผลให้รายได้ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจ โดยเมื่อเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวได้ดีขึ้น ธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ การจัดเก็บรายได้ของกระทรวงการคลังก็จะเพิ่มขึ้นตามมา อย่างไรก็ดี จะมีการติดตามสถานการณ์เดือนต่อเดือน

สำหรับในปีงบประมาณ 2565 ก็ต้องมีการประเมินทั้งปีว่า เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวได้แล้ว การบริโภคเพิ่มขึ้น รายได้การจัดเก็บภาษีก็จะเพิ่มตาม แต่จะเพิ่มมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยหากเศรษฐกิจปีนี้เติบโตได้ 4% ต่อปีตามคาด การจัดเก็บภาษีก็น่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย

“ขณะนี้ประเมินว่ายังอยู่ในวิสัย โดยการจัดเก็บรายได้ 4 เดือนแรกยังสูงกว่าปีที่ผ่านมา แม้จะไม่มากเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้กังวลเพราะมาตรการที่ออกมา เพื่อเป็นการช่วยประชาชน ซึ่งเมื่อจะต้องช่วยเหลือกระทรวงการคลังก็พร้อมที่จะดูแล อย่างไรก็ดี จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดในทุกเดือน ทั้งรายได้ในส่วนของภาครัฐ และรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่นำส่งด้วย” นายอาคมกล่าว

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า เป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในปีงบประมาณ 2565 นี้ ตามเอกสารงบประมาณอยู่ที่ 597,000 ล้านบาท โดยเป้าหมายดังกล่าวได้รวมการปฏิรูปโครงสร้างภาษีไว้แล้วประมาณ 30,000 ล้านบาท

แต่เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่เอื้ออำนวย กรมจึงชะลอการปฏิรูปโครงสร้างภาษีออกไปก่อน และปรับเป้าหมายจัดเก็บรายได้ในปีนี้เหลือ 560,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย แม้ว่าจะสูญเสียรายได้ไปจากการลดภาษีน้ำมันดีเซลประมาณ 17,000 ล้านบาทก็ตาม

“การลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร นาน 3 เดือน ส่งผลให้กรมสูญเสียรายได้ 17,000 ล้านบาท แต่ว่าภาพเศรษฐกิจขณะนี้มีความจำเป็นที่ต้องใช้ภาษีสรรพสามิตตรึงราคาในระบบให้เหมาะสม โดยเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวขึ้นได้ รายได้จากภาษีก็จะกลับมา โดยยืนยันว่าในปีงบประมาณ 2565 นี้กรมจะไม่มีการออกภาษีตัวใหม่เข้ามาทดแทนการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่หายไป และไม่มีการขึ้นอัตราภาษีส่วนอื่น ๆ ด้วย เพราะจะกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” นายลวรณกล่าว

นายลวรณกล่าวว่า ความท้าทายในการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต จะเป็นเรื่องของการล็อกดาวน์มากกว่า เนื่องจากการเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตเกี่ยวข้องกับการบริโภค ทั้งน้ำมันที่เก็บภาษีได้เฉลี่ยปีละ 200,000 ล้านบาท, สุราเฉลี่ย 60,000 ล้านบาทต่อปี, เบียร์เฉลี่ย 80,000 ล้านบาทต่อปี และบุหรี่อีก 60,000 ล้านบาทต่อปี

หากมีการล็อกดาวน์การเก็บรายได้ก็จะได้รับผลกระทบมาก แต่ที่ผ่านมาเมื่อรัฐบาลผ่อนคลายการล็อกดาวน์มาตั้งแต่ปีที่แล้ว จะเห็นว่าตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของกรมดีขึ้น ซึ่งปัจจุบัน 4 เดือนแรกสามารถจัดเก็บรายได้ 186,553 ล้านบาท

“หากในปี 2565 นี้ไม่มีการกลับมาประกาศล็อกดาวน์อีก เชื่อว่าแนวโน้มการจัดเก็บภาษีดีขึ้นแน่นอน เช่นเดียวกันกับภาษีน้ำมัน กรมก็แลกมากับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้มีความสมดุลเพื่อไม่ให้ราคาทางด้านต้นทุนพลังงานที่สูงเข้ามากระทบเศรษฐกิจ และเมื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว การจัดเก็บรายได้ของกรมที่มาจากการบริโภคก็จะกลับมาตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ”


“อย่างไรก็ดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บกรมได้มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาควบคุมและป้องกันปราบปรามการใช้น้ำมันเถื่อน เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของคน ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการด้วยระบบยืนยันตัวตนอีกด้วย รวมทั้งมีการหารือกับสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยี ลดการสวมสิทธิการเติมน้ำมันเขียว” นายลวรณกล่าว