ค่าเงินบาทแข็งค่า ตลาดจับตาสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 13 ธันวาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.61/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตาดในวันอังคาร (12/12) ที่ระดับ 32.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในคืนที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้น 0.4% ติดต่อกัน 3 เดือน การตีดตัวของดัชนี PPI ได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 3.1% ในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 หลังจากเพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือนตุลาคม นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี PPI ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน พ.ย.เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบรายปี ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหาร พลังงานและภาคบริการ เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% เป็นเวลา 2 เดือนติดต่อกัน เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 2.4% ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 หลังจากดีดตัวขึ้น 2.3% ในเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตาม นักลงทุนกำลังติดตามผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เพื่อดูการประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยปี 2018 ว่า FOMC จะยังคงแนวทาการขึ้นดอกเบี้ยอีก ครั้งภายในปีหน้าหรือไม่ ทั้งนี้ถ้าดูจากภาวะการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ นักลงทุนค่อนข้างที่จะมั่นใจว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้อีก 0.25% และถ้าหากปรับขึ้นจริง เชื่อว่าจะไม่ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าเพิ่มขึ้นไปมากนัก เพราะตลาดรับข่าวนี้ไประยะหนึ่งแล้ว

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้น ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ประจำประเทศไทย ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 60 เป็นขยายตัว 3.8% จากเดิมคาด 3.5% และจะยังคงเติบโตต่อเนื่องในระดับเดียวกันที่ 3.8% ในปี 61 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 3.6% เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มกระเตื้องขึ้นแล้ว ทั้งนี้ ADB ระบุว่า การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานยังคงมีบทบาทสำคัญสำหรับเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ขณะเดียวกัน อุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนและการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนจะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2560 ในอัตรา 7% มีมูลค่าส่งออก 1.07 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 32.57-32.615 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 32.58/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (13/12) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1744/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (12/12) ที่ระดับ 1.1783/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรปรับตัวลดลงหลังจากดัชนี PPI ของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เงินยูโรยังคงถูกกดดันหลังจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการเจรจา Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป (EU) หลังนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของอังกฤษ และนายฌอง-คล็อต ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการผลักดันการเจรจา Brexit ให้เดินหน้าสู่ขั้นตอนที่สองได้ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1736-1.1763 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1742/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (13/12) เปิดตลาดที่ระดับ 113.45/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (12/12) ที่ระดับ 113.46/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นระหว่างวันหลังจากสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมต่อเรือและสาธารณูปโภค ปรับตัวขึ้น 5% ในเดือน ต.ค.เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สู่ระดับ 8.509 แสนล้านเยน (7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยได้ปัจจัยหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องมือประเภทอื่น ๆ ในภาคการผลิต ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 113.31-113.57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 113.32/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน พ.ย.จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ราคานำเข้าและส่งออกเดือน พ.ย., ยอดค้าปลีกเดือน พ.ย., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นเดือน ธ.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือน ธ.ค.จากมาร์กิต และสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือน ต.คง และดัชนีภาคการผลิต (Empire state Manufacturing Index) เดือน ธ.ค.จากเฟดนิวยอร์ก

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.5/3.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.25/-3.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ