วิจัยกรุงศรี คงจีดีพีปี’65 โต 3.7% เผย 3 ปัจจัยหนุนฟื้นเศรษฐกิจ

วิจัยกรุงศรี คงประมาณการเติบโตเศรษฐกิจปี’65 อยู่ที่ 3.7% แม้ว่าสภาพัฒน์เผยตัวเลข Q4/64 ขยายตัว 1.9% ดีกว่าคาด ประเมินเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ชะลอตัวลงจากผลกระทบโอมิครอน แต่อยู่ในวงจำกัด เปิด 3 ปัจจัยหนุนจีดีพีข้างหน้าปรับดีขึ้น

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 วิจัยกรุงศรีรายงานว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) รายงานเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2564 ขยายตัว 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์และวิจัยกรุงศรีคาดไว้ที่ 0.7% และ 0.8% ตามลำดับ

โดยปัจจัยหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เติบโตเร่งขึ้นตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการเบิกจ่ายเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ด้านการส่งออกสินค้าและบริการเติบโตดีจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงเล็กน้อย และการลงทุนภาคเอกชนกลับมาหดตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยเฉพาะจากการสิ้นสุดลงของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู

สำหรับทั้งปี 2564 เศรษฐกิจไทยเติบโต 1.6% ดีกว่าที่นักวิเคราะห์และวิจัยกรุงศรีคาดไว้ที่ 1.1% และ 1.2% ตามลำดับ เทียบกับปี 2563 ที่ -6.2% ส่วนในปี 2565 สภาพัฒน์ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไว้ที่ 3.5 – 4.5%

ทั้งนี้ ตัวเลขจีดีพีไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนที่ออกมาดีกว่าคาด ไม่ได้สะท้อนถึงปัจจัยบวกเพิ่มเติมต่อมุมมองเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า วิจัยกรุงศรีจึงยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวที่ 3.7% โดยจีดีพีในไตรมาสแรกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากไตรมาสก่อน ผลจากการระบาดของไวรัสโอมิครอนแต่คาดว่าผลกระทบจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดมีความเข้มงวดไม่มากเท่ากับการระบาดในรอบก่อนหน้า ประกอบกับการฉีดวัคซีนเพื่อเร่งสร้างภูมิต้านทานเพิ่มขึ้นมาก

อย่างไรก็ดี คาดว่าในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มปรับดีขึ้น ปัจจัยหนุนจาก ได้แก่ 1.การเติบโตของภาคส่งออกที่ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ และส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมภาคการผลิตและการลงทุนตามมา

2.ภาคท่องเที่ยวมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวแม้ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อยู่มาก และ 3.การบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวตามมาตรการผ่อนคลาย ประกอบกับได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ( 5.32 หมื่นล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นในปัจจุบันอาจบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค และเป็นผลให้การเติบโตของการบริโภคยังคงมีความแตกต่างกันอยู่มากตามกลุ่มรายได้ สะท้อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มเปราะบาง

ส่วนมาตรการลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงาน ช่วยให้ราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ถึงเดือนพฤษภาคม โดยรัฐบาลอนุมัติการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงจากเดิมจัดเก็บ 5.99 บาทต่อลิตร ปรับเป็น 3.20 บาทต่อลิตร หรือลดลง 2.79 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในปัจจุบันลดลงจาก 29.94 บาทลิตร เป็น 27.94 บาท/ลิตร ทั้งนี้ ทางการคาดรายได้จากภาษีที่จะสูญเสียจากการออกมาตรการประมาณ 1.71 หมื่นล้านบาท

โดยผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 90.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นกว่า 24% จากสิ้นปีก่อน ส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพและต้นทุนในการประกอบกิจการ ขณะที่ภาพรวมของเศรษฐกิจกำลังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการฟื้นตัว

นอกจากนี้ จากผลการวิเคราะห์ของกระทรวงพาณิชย์พบว่าหากราคาน้ำมันดีเซลมีการปรับขึ้น 5 บาท/ลิตร (จาก 25 เป็น 30 บาท/ลิตร) จะส่งผลต่อต้นทุนสินค้าในหมวดต่าง ๆ เช่น หมวดอาหารและเครื่องดื่มต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.45% วัสดุก่อสร้าง 1.2% หมวดของใช้ประจำวัน 1.1% และปัจจัยเกษตร 0.5% เป็นต้น มาตรการดูแลราคาน้ำมันดีเซลดังกล่าวจึงมีส่วนช่วยในการชะลอการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในช่วงที่แรงกดดันจากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก