ผยง แนะไทยฉวยโอกาสเศรษฐกิจฟื้น เกาะกระแส เมกะเทรนด์โลก

ผยง ศรีวณิช

ธนาคารกรุงไทย มองเศรษฐกิจไทยปี 2565 ก้าวเข้าสู่การฟื้นตัวชัดเจน คาดเติบโต 3-4.5% แนะใช้โอกาสหา “Growth Driver” ตัวใหม่ ชู “ดิจิทัล-เมกะเทรนด์โลก” ปรับตัวสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ เน้นการเติบโตเท่าเทียมและยั่งยืน พร้อมกางโรดแมปสมาคมธนาคารไทย 3 ปี ภายใต้ 4 ธีมหลัก

“การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ-เป็นผู้นำให้บริการทางการเงินในภูมิภาค-การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน-การให้ความสำคัญด้านทรัพยากรมนุษย์”

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวในงานสัมมนา “2022 NEXT ECONOMIC CHAPTER : NEW CHALLENGES AND OPPORTUNITIES เศรษฐกิจไทยปี 2565 ความท้าทายและโอกาสใหม่” ภายในหัวข้อ “กลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กรปี 2565 ฝ่าวิกฤต สู่โอกาสใหม่ที่ยั่งยืน” ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 เข้าสู่เส้นทางฟื้นตัวชัดเจนหลังจากเจอมรสุมมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ผยง ศรีวณิช

โดยคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวที่ระดับ 3-4.5% อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวเป็นแบบไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียม หรือเรียกว่า K Shaped เศรษฐกิจมีความเปราะบางสูง กำลังซื้อครัวเรือนถูกกดดันด้วยภาระหนี้ที่สูง

“ปีนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องเร่งใช้โอกาสจาก Growth Driver ใหม่ๆ และกระแสเมกะเทรนด์ของโลกเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งบนแนวคิดของการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเข้ามาเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ และกระแส Net zero emission จะเป็น Agenda สำคัญที่ไทยจะต้องตื่นตัวและนำมาเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงการให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืนตามกรอบแนวคิด ESG”

ขณะที่ เมกะเทรนด์ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของทุกภาคส่วน รวมถึงภาคการเงินในการปรับตัวสู่ Next Economy ของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิสรัปชั่น จะทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ที่มีศักยภาพเข้าสู่อุตสาหกรรมการเงินมากขึ้น ซึ่งจากรายงานจะพบว่าไทยมีบริษัทฟินทคเพิ่มขึ้นจาก 177 บริษัท ในปี 2560 มาอยู่ที่ 268 บริษัทในปี 2564

สอดคล้องกับสถาบันการเงินที่นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจของตัวเอง สะท้อนจากการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโมบายแบงกิ้งในปี 2564 ที่มีปริมาณธุรกรรมสูงถึง 1.5 หมื่นล้านรายการ ซึ่งเติบโตจากปี 2560 ที่อยู่ 1,300 ล้านรายการ ขณะที่ธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์มีจำนวน 9,400 ล้านรายการ เติบโตเพิ่มขึ้น 10 เท่าจากปี 2560

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วย่อมมากับความเสี่ยง โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการโจรกรรมข้อมูลในปี 2568 สูงถึง 10.5 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มจากปี 2558 ที่อยู่ราว 3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจเกิดปัญหาเสถียรภาพของระบบ การเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน หรือโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีไม่เพียงพอ และปัญหาช่องทางของกฎกติกาที่ไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว

โดยจะเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น “ภูมิทัศน์ของภาคการเงินไทย” ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินและภาคการเงินไทยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลภายใต้ 3 Open ได้แก่ Open Competition, Open Infrastructure, และ Open Data โดยจะมีการเปิดกว้างด้านการแข่งขันที่มากขึ้น และการกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยงและมีความเท่าเทียมผู้เล่นหน้าเดิมและหน้าใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ เน้นการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่โลกการเงินใหม่อย่างยั่งยืนทั้งภาคการเงินและครัวเรือน รวมถึงการกำกับที่รักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและดูแลความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเงิน โดยการทบทวนกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อลดภาระหรือต้นทุนการกำกับดูแลของผู้ให้บริการทั้งรายเดิมและรายใหม่ และเอื้อให้ผู้บริการสามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายผยงกล่าวต่อไปว่า ภายใต้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น และความท้าทายจากบริบทใหม่ใน New Normal เพื่อปรับตัวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และให้สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ท่ามกลางความเปราะบางจากผลกระทบของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินของภาคธุรกิจ

โดยสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์และวางกรอบเป้าหมาย Roadmap ในระยะ 3 ปีข้างหน้า ด้วยการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน และเพิ่มความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระดับภูมิภาคและประเทศใน 4 ธีมด้วยกัน

คือ 1.การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีการร่วมมือกับธปท. ธนาคารสมาชิกในการพัฒนามาตรการหลายด้าน และล่าสุด “ภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย” สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง Virtual Bank การขยายขอบเขตให้น็อนแบงก์สามารถทำธุรกิจได้มากขึ้น การลดปริมาณการใช้เงินสดและเช็ค หรือล่าสุด การเชื่อมโยงข้อมูลผ่านบริการ d-Statement ที่คาดว่าภายในครึ่งปีแรกจะมีธนาคารให้บริการ 11 แห่ง

และ 2.การเป็นผู้นำการให้บริการทางการเงินในภูมิภาค CLMV และ AEC+3 โดยการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและประชาชนทำกิจกรรมการค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง โดยจะเห็นว่าเศรษฐกิจในประเทศ CLMV มีประชากรมากถึง 170 ล้านคน มูลค่าเศรษฐกิจ 4.8 แสนล้านดอลลาร์ และมีการคาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัวเฉลี่ย 4-7% โดยสมาคมและธปท.สนับสนุนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานการเงินดิจิทัลระหว่างประเทศ เช่น การโอนเงินแบบเรียลไทม์ผ่าน QR Code หรือการขยายการรับโอนเงินผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือ รวมถึงธปท.สนับสนุนการใช้สกุลเงินดิจิทัล หรือ CBDC ที่จะมีการทดลองในวงจำกัดภาคประชาชนปลายปีนี้

3.การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยการดำเนินงานภายในของธนาคารเอง และผลักดันการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนให้คำนึงถึง ESG และเปลี่ยนผ่านไปสู่ Green Economy ซึ่งได้ร่วมกับธปท.เร่งพัฒนาและนำแนวปฏิบัติด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) ใช้ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงจัดทำ ESG Declaration ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น 90% ต่อจีดีพี จากผลกระทบโควิด-19

และ 4.การให้ความสำคัญด้านทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเตรียมบุคลากรการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล จึงได้เร่งในการ Up & Re-Skill พนักงานที่ปัจจุบันมีในระบบธนาคารพาณิชย์กว่า 1.3 แสนคน ให้มีความรู้ด้านดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนรู้ผ่านสถาบันธนาคารไทยให้กับบุคลากรในภาคการเงินการธนาคาร

“ท่ามกลางการฟื้นตัวจากโควิด-19 และบริบทโลกที่เปลี่ยนไป สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกพร้อมส่งเสริมและเป็นกลไกสนับสนุนภาคเศรษฐกิจไทย แต่ยังจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือกับจิ๊กซอว์ชิ้นอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคประชาชน เพื่อประโยชน์ที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย”