คลังเล็งกู้เงินต่างประเทศ 1.6 หมื่นล้าน บรรเทาโควิด

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รมว.คลัง เล็งกู้เงินต่างประเทศ 1.6 หมื่นล้านบาท บรรเทาโควิด ชี้เน้นกู้เงินในประเทศเป็นหลัก แต่ต้องพิจารณาสภาพคล่องทั้งในและต่างประเทศด้วย

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีแนวทางที่จะกู้เงินจากต่างประเทศ วงเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จากประเทศญี่ปุ่นที่เสนอแพ็กเกจเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำมาให้กระทรวงการคลังพิจารณา

โดยที่ผ่านมาก็เคยมีการกู้เงินจากต่างประเทศภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทมาแล้ว จำนวน 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ จากธนาคารพัฒนาเอเชีย

สำหรับการกู้เงินนั้น สภาพคล่องของตลาดในประเทศก็ยังมีเพียงพออยู่ แต่การพิจารณาการกู้เงินนั้น จะดูในเรื่องสภาพคล่องทั้งในและต่างประเทศ โดยในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ระหว่างการฟื้นตัว ภาคธุรกิจในประเทศก็มีความต้องการสภาพคล่อง เพื่อไปพัฒนาธุรกิจ ในส่วนของกระทรวงการคลังจึงต้องจะมีการสร้างความสมดุลในด้านสภาพคล่องด้วย

“แหล่งเงินกู้จากต่างประเทศ ทั้ง ADB และจากญี่ปุ่น ก็เป็นการช่วยเหลือทางด้านสภาพคล่องให้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ไม่ใช่การให้เปล่า อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องในประเทศไทยยังพอ ดังนั้นรัฐบาลจะใช้แหล่งเงินกู้จากในประเทศเป็นหลัก ขณะเดียวกันจะพิจารณาแหล่งเงินจากต่างประเทศด้วย เพื่อสร้างความสมดุล เนื่องจากภาคเอกชนของไทยก็ยังจำเป็นต้องใช้แหล่งเงินกู้เช่นกัน” นายอาคม กล่าว

นายอาคมกล่าวว่า ปัจจุบัน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ยังทยอยกู้เงินตามความจำเป็นการใช้เงิน ซึ่งขณะนี้มีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนจะมีความจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินอีกฉบับ เพื่อมารองรับสถานการณ์เศรษฐกิจหรือไม่นั้น ยังมองว่ายังสามารถบริหารวงเงินที่เหลืออยู่ได้

ขณะเดียวกันก็ได้มีการปรับโครงการที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว แล้วใช้วงเงินไม่หมด ก็ปรับวงเงินลงมาบางส่วน เช่น โครงการขอใช้งบ 100 ล้านบาท เมื่อใช้ไม่ถึงก็มีการปรับงบประมาณลงมา แล้วนำเงินมาคืน เป็นต้น

ทั้งนี้ หากกู้เงินเต็มเพดาน 5 แสนล้านบาท จะมีผลต่อหนี้สาธารณะอย่างไรนั้น นายอาคมกล่าวว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 62% ภายใต้การประมาณการว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 4% และการคำนวณงบประมาณขาดดุล 7 แสนล้านบาท โดยหากมีการจัดเก็บรายได้เพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้มีการส่งเงินเข้าคงคลังมากขึ้น และหากเศรษฐกิจขยายตัวได้มากกว่าที่คาดการณ์ ระดับหนี้สาธารณะก็จะต่ำกว่า 62%