เงินบาทแข็งค่า ตลาดรับข่าวการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.51/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (13/12) ที่ระดับ 32.58/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจากตลาดรับข่าวนี้มาในช่วงหนึ่งแล้วธนาคารกลางสหรัฐลงมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.25-1.50% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ พร้อมกับส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2561 และอีก 3 ครั้งในปี 2562 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะแตะ 2.8% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ขณะเดียวกัน เฟดปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐสู่ระดับ 2.5% ในปีนี้ ส่วนในปี 2561 2562 และ 2563 อยู่ที่ระดับ 2.5% 2.1% และ 2.0% ตามลำดับ ขณะที่อัตราการขยายตัวในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 1.8% นอกจากนี้ เฟดยังได้ปรับลดอัตราการว่างงานในปีนี้ ลงสู่ระดับ 4.1% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.3%และปรับลดอัตราการว่างงานในปี 2561 2562 และ 2563 สู่ระดับ 3.9% 3.9% และ 4.0% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.1% 4.1% และ 4.2% ตามลำดับ ขณะที่อัตราการว่างงานในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 4.6% และเฟดยังได้คงอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 1.9% ในปี 2561 และที่ระดับ 2.0% ซึ่งเป็นเป้าหมายของเฟดในปี 2562 และ 2563 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 2.0% ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจทางกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนพฤศจิกายน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1%ในเดือนตุลาคม นอกจากนี้นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ว่า กรรมการเฟด เชื่อว่านโยบายภาษีจะช่วยหนุนนัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ให้ขยายตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า และด้วยการคาดการณ์ดังกล่าว ทำให้เฟดยังคงระดับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ และคงระดับการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมเช่นกัน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 32.45-32.54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.45/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (14/12) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1838/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (13/12) ที่ระดับ 1.1742/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์ นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี รายงานว่า (13/12) ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพฤศจิกายน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนตุลาคม ซึ่งหากเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนพฤศจิกายน หลังจากที่ทรงตัวในเดือนตุลาคม ในขณะที่นักลงทุนจับตามองผลการประชุมของธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) ในคืนนี้ (14/12) ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1811-1.1844 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.18218/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (14/12) เปิดตลาดที่ระดับ 112.73/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (13/12) ที่ระดับ 113.32/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้น เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลง จากการที่ตลาดรับข่าวการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 112.56-112.88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ร่ะดับ 112.86/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (14/12) ยอดค้าปลีกสหรัฐ เดือนพฤศจิกายน (14/12) ดุลการค้าอียู เดือนตุลาคม (15/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือน ในประเทศอยู่ที่ -3.5/-3.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดืแอนต่างประเทศอยู่ที่ -6.75/-6.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ