เศรษฐกิจเดือน มกราคม ชะลอตัว โอมิครอน ฉุด “การบริโภค-การลงทุน”

การลงทุนอาเซียน

ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือน ม.ค. 65 ชะลอตัวจากผลกระทบโอมิครอนระบาดรุนแรง-ภาครัฐชะลอมาตรการ Test & Go กดดันภาคการบริโภคหดตัว -0.4% ความเชื่อมั่นผู้บริโภค-การลงทุนปรับลดลง

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์ร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจเดือนมกราคม 2565 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโอมิครอนที่รุนแรงขึ้น แม้ว่าภาครัฐไม่ได้มีการออกมาตรการควบคุมเข้มงวด

แต่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และปัญหาแคลนขาดซัพพลายเชนที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลต่อภาคการผลิตที่ปรับลดลง มองไประยะข้างหน้าเศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์น่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามการพร่ระบาดของโอมิครอน อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น และปัญหา Supply Disruption ต่อเนื่อง

“แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4/64 ที่ออกมาดีกว่าคาดของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ จะเป็นตัวช่วยยกฐานที่สูงขึ้น และเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี แต่มองไปข้างหน้ายังมีหลายประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะรวบรวมและมีการประเมินอีกครั้งในการประชุมครั้งหน้าในเดือนมีนาคมนี้”

ทั้งนี้ หากดูดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจในเดือนมกราคม โดยการบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงจากเดือนธ.ค.64 ที่ขยายตัว 3.4% มาอยู่ที่ -0.4% เป็นผลมาจากการระบาดของโอมิครอนที่รุนแรงขึ้น และมีการขอความร่วมมือในการไปสถานที่เสี่ยง ส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคปรับลดลง

สอดคล้องกับความเชื่อมั่นปรับลดลง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐหมดลง เช่น มาตรการคนละครึ่งเฟส 3 เป็นต้น อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าคงทนขยายตัว โดยเฉพาะในหมวดรถยนต์ที่ขยายตัวทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและเชิงพาณิชย์

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ 1.8% มาอยู่ที่ -0.7% โดยปรับลดลงตามการลงทุนด้านก่อสร้างเป็นสำคัญ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นด้านการลงทุนลดลง โดยเฉพาะในภาคการบริการ ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลจากการระบาดของโอมิครอน

สำหรับการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหรรมปรับลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากที่เร่งไปมากในเดือนก่อนตามอุปสงค์ที่แผ่วลงและปัจจัยบวกชั่วคราวจากการได้รับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หมดลง โดยการส่งออกปรับลงลดลงจากเดือนธ.ค.64 ที่ขยายตัว 5.3% มาอยู่ที่ -5.0% ในเดือน ม.ค. เช่นเดียวกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงมาอยู่ที่ -3.0% จากเดือนก่อนอยู่ที่ 2.8%

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อย ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัว 6.2% ตามการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ชลประทาน เป็นต้น

นางสาวชญาวดี กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับด้านเสถียรภาพต่างประเทศ โดยในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปรับลดลงทุกชาติจาก 2.3 แสนคน เหลือ 1.3 แสนคน เป็นผลมาจากมาตรการ Test & Go ที่ภาครัฐได้ดำเนินการในช่วงวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ซึ่งส่งผลปรากฎมายังเดือน ม.ค. ขณะที่สถานการณ์รัสเซียและยูเครนที่เกิดขึ้น ธปท.จะมีการติดตามใกล้ชิด เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเข้ามาจำนวนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งต้องดูสถานการณ์รัสเซียจะยืดเยื้อขนาดไหน อาจจะมีการปรับตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนม.ค.ขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากดุลการค้าที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.23% ตามราคาพลังงานและอาหารสด ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจาก 0.29% มาอยู่ที่ 0.52% จากราคาอาหารสำเร็จรูปที่ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นบ้างแต่โดยรวมยังเปราะบาง

ด้านแนวโน้มค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องทั้งในเดือนม.ค.-ก.พ. ซึ่งมาจากการผ่อนคลายมาตรการ Test & Go และการระบาดโอมิครอนในต่างประเทศ ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่ง และยังคงแข็งค่าต่อเนื่องในเดือน ก.พ. ส่วนหนึ่งมาจากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนในประเทสไทย

เนื่องจากความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังจากมีการประกาศในกลางเดือนมกราคมว่าจะกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านระบบ Test & Go ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.65 เป็นต้นไป รวมถึงนโยบายการเงินที่ยัคงผ่อนคลาย และแรงเทขายทองคำเมื่อกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีสถานการณ์รัสเซียและยูเครน ทำให้นักลงทุยลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง แต่ยังคงมีการถือครองเงินบาท ทำให้เงินบาทยังคงแข็งค่าอยู่

“เครื่องชี้วัดช่วงวันที่ 17-19 ก.พ.พบว่าสถานการณ์ดีขึ้น โดยธปท.ได้รวบรวมข้อมูลจากการเดินทางของประชาชนผ่านหน่วยงานต่างๆ พบว่าเดือนม.ค.ปรับลดลงชัดเจนจากการระบาดของโอมิครอน แต่ก.พ.ลับมาดีขึ้น แต่อาจจะต้องดูข้อมูลในช่วงครึ่งหลังของเดือน ก.พ. จะเป็นอย่างไร แต่คาดว่าน่าจะชะลอตัวลง


และจากการพูดคุยกับภาคเอกชน พบว่า ภาคการผลิตดีขึ้นตามคู่ค้า การบริการดีขึ้นจากมาตรการรัฐ ภาคการค้าดีขึ้นจากการบริโภค ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ทรงตัว แต่หมวดก่อสร้างยังกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น”