ดอลลาร์ร่วง หลังประธานเฟดหนุนขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.25% ในการประชุมเดือนนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/3) ที่ระดับ 32.43/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (2/3) ที่ระดับ 32.65/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐร่วงลงหลังจากถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า เฟดจะยังคงทำตามแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แม้ว่าวิกฤตการณ์ในยูเครนได้สร้างความไม่แน่นอนอย่างมากต่อแนวโน้มในอนาคต

โดยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงและตลาดแรงงานที่ตึงตัวเป็นอย่างมาก เป็นสาเหตุที่ทำให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งปรับลดขนาดของงบดุลภายในปีนี้ จากปัจจุบันที่ระดับ 8.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดหวังว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงในปีนี้ หากภาวะคอขวดอุปทานผ่อนคลายลง

อย่างไรก็ดี เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมเดือนนี้ ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นได้ถึง 0.50% ทำให้เกิดแรงเทขายเงินดอลลาร์ในช่วงที่ตลาดรับข่าวแถลงการณ์ดังกล่าว ซึ่งทางเฟดก็ได้มีการเปิดช่องสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงขึ้น หากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

ขณะเดียวกัน ตลาดยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ล่าสุดสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีมติเรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังทหารออกจากยูเครนโดยทันที โดยมติดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสมาชิก 141 ประเทศ จากทั้งหมด 193 ประเทศ ขณะที่ 35 ประเทศงดออกเสียง ซึ่งรวมถึงจีน อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ แอฟริกาใต้ และเวียดนาม ส่วน 5 ชาติ ได้แก่ รัสเซีย เบลารุส ซีเรีย เกาหลีเหนือ และเอทิเทรีย ลงคะแนนเสียงคัดค้าน

อย่างไรก็ดี มติดังกล่าวมิได้มีผลผูกพันทางกฎหมายแต่อย่างใด ทางด้านทูตรัสเซียอ้างว่า รัฐบาลได้ปฏิบัติตามมาตรา 51 กฎบัตรสหประชาชาติเพื่อป้องกันตนเอง แต่ชาติสมาชิกยุโรปยืนยันว่ารัสเซียได้ละเมิดมาตรา 2 ที่ระบุห้ามชาติสมาชิกใช้กำลังทหารเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ โดยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มปรับตัวแข็งค่าหลังตลาดเอเชียเปิดทำการในช่วงเช้าจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยของนักลงทุน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยยอดการส่งออกของไทยขยายตัวได้ 8% มูลค่ารวม 21,258 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าขยายตัว 20.5% มูลค่ารวม 23,785 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน ม.ค. 2565 ทำให้ไทยขาดดุลการค้า 2,526.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการที่ผู้ประกอบการไทยนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิต และราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น

ส่วนสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทางกระทรวงพาณิชย์มองว่ายังไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครน ในขณะนี้แม้มีการปิดท่าเรือบางแห่งในสองประเทศ ซึ่งสามารถทดแทนจากการส่งออกผ่านท่าข้ามแดน เช่น จากจีนส่งเข้ารัสเซียได้ อีกทั้งปัญหาการชำระเงินระหว่างไทยกับรัสเซียยังปกติ

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น ไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากปัญหาราคาน้ำมันและพลังงานที่สูงขึ้นต่อเนื่อง มีต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้นและต้นทุนจากการเปลี่ยนท่าเรือเพื่อส่งมอบสินค้า เช่นเดียวกับราคาธัญพืชเพื่อทำอาหารสัตว์ เนื่องจากรัสเซียกับยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก โดยอุตสาหกรรมของไทยที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น ยางล้อรถยนต์ อาหารแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.43-32.64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (3/3) ที่ระดับ 1.1103/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (2/3) ที่ระดับ 1.1071/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเงินยูโรเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากวิกฤตการณ์ยูเครน-รัสเซีย ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1077-1.1106 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1078/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/3) ที่ระดับ 115.59/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (2/3) ที่ระดับ 115.20/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าแตะกรอบกลาง 115 เยน เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ จะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ และญี่ปุ่นปรับตัวกว้างขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 115.54-115.79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 115.76/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (24/2), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐเดือน ม.ค. (25/2), ดัชนีการใช้จ่ายส่วนบุคคลพื้นฐานเดือน ม.ค.ของสหรัฐ (25/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.2/+0.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0/+3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ