โควิดทุบประกันภัยขาดทุนยับ อาคเนย์ ติดกับดักจบไม่ลง

ประกันโควิด

ธุรกิจประกันวินาศภัยอ่วม ปี 2564 ขาดทุนจากการรับประกันภัย 8,253 ล้านบาท สังเวยเคลมโควิด คปภ.ขู่ “อาคเนย์ฯ” ไม่ปล่อยเลิกกิจการยังมีลูกค้าโควิดในพอร์ตกว่า 1.4 ล้านราย สั่งเปิดลงทะเบียนคืนเบี้ยโควิดรอบใหม่ สมาคมประกันฯชงขอลดนำส่งเงินสมทบมูลค่า 2,000 ล้านบาท หวังประคองสภาพคล่อง

ประกันวินาศฯขาดทุน 8 พันล้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ในปี 2564 ประกันวินาศภัยทั้งระบบมีผลขาดทุนจากการรับประกันภัย -8,253 ล้านบาท

เทียบจากช่วงปี 2563 ที่มีกำไรจากการรับประกันภัย 12,370 ล้านบาท ลดลงกว่า 166.72%และมีผลขาดทุนสุทธิ 741 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ13,653 ล้านบาท

ทั้งนี้ ข้อมูลจากบริษัทประกันภัยที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น โดย 5 บริษัทใหญ่ที่ขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 พบว่ามีผลประกอบการงวดสิ้นปี 2564 เทียบกับปีก่อน (YOY) ดังนี้

1.สินมั่นคงประกันภัย (SMK) ขาดทุนสุทธิ 4,753 ล้านบาท ติดลบ 727.68%, 2.เครือไทยโฮลดิ้งส์ (TGH) ขาดทุนสุทธิ 3,360 ล้านบาท ติดลบ 575.90%, 3.ทิพยกรุ๊ปโฮลดิ้งส์ (TIPH) (คำนวณเฉพาะกำไรทิพยประกันภัย)

มีกำไรสุทธิ 1,843 ล้านบาท ลดลง 10.71%, 4.กรุงเทพประกันภัย (BKI) มีกำไรสุทธิ 1,056 ล้านบาท ลดลง 61% และ 5.เมืองไทยประกันภัย (MTI) มีกำไรสุทธิ 767 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 176.55%

สินมั่นคงรอลุ้นผู้ร่วมทุนใหม่

รายงานข่าวระบุว่า กรณีบริษัทสินมั่นคงประกันภัยแจ้งว่าการรับประกันภัยโควิดประสบผลขาดทุนสูงถึง 7,632 ล้านบาท โดยมีค่าสินไหมทดแทนโควิด 8,141 ล้านบาท

ขณะที่แผนเพิ่มทุนล่าสุดนักลงทุนที่จะเข้าร่วมทุนกับบริษัทชะลอการตัดสินใจขอรอดูตัวเลขสินไหมโควิดจนถึงเดือน เม.ย. 65 จากผลการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเพื่อประเมินมูลค่าที่เหมาะสมในการร่วมลงทุนกับบริษัทได้อย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม สินมั่นคงประกันภัยยืนยันกับตัวแทนและนายหน้าประกันภัยของบริษัทว่า จะมีนักลงทุนให้ความสนใจในการร่วมทุนครั้งนี้แน่นอน และคาดว่ากระบวนการร่วมทุนจะแล้วเสร็จประมาณเดือน มิ.ย. 65

เจ้าสัวเติมเงินอีก 300 ล้าน

ขณะที่บริษัทเครือไทยโฮลดิ้งส์ของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แจ้งผลขาดทุนจากธุรกิจประกันภัย 4,383 ล้านบาทจากกรมธรรม์โควิดเจอจ่ายจบ โดยเป็นตัวเลขขาดทุนของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย

และไทยประกันภัยรวม 4,206 ล้านบาท และเป็นการตั้งสำรองรายการที่เกี่ยวข้องการเลิกประกอบธุรกิจของอาคเนย์ฯอีก 278 ล้านบาท

ทั้งนี้ สำหรับในปี 2564 อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย มีค่าใช้จ่ายสินไหมที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น 10,907 ล้านบาท โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ได้สนับสนุนทางการเงินในปี’64 รวม 9,600 ล้านบาทและเมื่อเดือน ม.ค. 65 ใส่เงินเพิ่มเติมไปอีก 300 ล้านบาท

เมืองไทยประกันภัยกำไรพุ่ง

ขณะที่กรุงเทพประกันภัย มีกำไรสุทธิ 1,056 ล้านบาท ลดลง 61% โดยเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 65 บริษัทมีกรมธรรม์โควิดอยู่จำนวน 1.4 ล้านกรมธรรม์ เป็นแบบเจอจ่ายจบ 1.1 ล้านกรมธรรม์ ประมาณ 70% จะสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองในเดือน เม.ย. 65 และจะทยอยสิ้นสุดความคุ้มครอง 100% ในเดือน มิ.ย. 65 โดยมีวงเงินค่าสินไหมทดแทนเฉลี่ยต่อราย 43,000 บาท

ส่วนเมืองไทยประกันภัย มีค่าสินไหมทดแทน 3,972 ล้านบาท ลดลง 9.26% จากปี’63 เป็นการลดลงของเคลมประกันรถยนต์จากการปรับปรุงการบริหารจัดการค่าสินไหม

และลูกค้ามีการใช้รถน้อยลงตามมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่กรมธรรม์โควิดแม้จะมียอดสูง แต่บริษัทมีการจัดทำประกันภัยต่อในต่างประเทศ ทำให้ปีที่ผ่านมาบริษัทมีกำไรสุทธิ 767 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 176.55%

อาคเนย์ฯ ติดกับดัก “ปิดกิจการ”

แหล่งข่าวสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คปภ.กำลังมอนิเตอร์กระบวนการเลิกกิจการของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคที่ยังมีผลความคุ้มครองอยู่กับทั้งสองบริษัท

“แนวทางการเลิกกิจการต้องถูกหลักการที่สุด คปภ.จะไม่ยอมให้อาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัยเดินหนีไปแบบสบาย ๆ หากไม่ยอมเพิ่มทุนเข้าไปบางส่วนเพื่อจ่ายเคลมประกันภัยโควิดให้จบ กระบวนการคืนใบอนุญาตก็จะไม่สำเร็จ”

ในส่วนของลูกค้าประกันรถยนต์ และประกันอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ประกันโควิด-19 (nonCOVID) มาถึงขั้นตอนการถ่ายโอนกรมธรรม์ไปยังบริษัทประกันภัยอื่น ๆ ที่บริษัทได้มีการพิจารณาคัดเลือกแล้ว แต่ในส่วนของลูกค้าประกันโควิด-19 นั้นต้องถือว่ายังติดปัญหา

เพราะจากที่เมื่อต้นปีทั้งอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย มีลูกค้ากรมธรรม์โควิดรวม 1.85 ล้านราย ซึ่งบริษัทได้เสนอเงื่อนไขคืนเบี้ยประกันโควิดเต็มจำนวน โดยเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนตั้งแต่ 1-7 ก.พ. 65

ซึ่งมีผู้เข้ามาทำรายการ 889,000 ราย แต่พบว่าลงทะเบียนสำเร็จและได้รับเงินคืนมีเพียง387,000 ราย ซึ่งเท่ากับว่าทั้งสองบริษัทยังมีลูกค้าประกันโควิดค้างอยู่กับบริษัทกว่า 1.4 ล้านกรมธรรม์ ทำให้บริษัทยังไม่สามารถดำเนินการปิดกิจการได้

สั่งเปิดคืนเบี้ยโควิดรอบใหม่

แหล่งข่าวกล่าวว่า คปภ.ได้หารือเบื้องต้นว่า จะให้อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย เปิดให้ลูกค้าผู้เอาประกันภัยโควิดลงทะเบียนรับเบี้ยโควิด-19 คืนเต็มจำนวนอีกรอบ จากก่อนหน้ามีลูกค้ามาขอคืนเบี้ยไปแล้วเกือบ 4 แสนราย

โดยรอบนี้อาจจูงใจด้วยการเพิ่มออปชั่นพิเศษให้ลูกค้ารู้สึกดีขึ้น เช่น แถมฟรีกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น โดยเรื่องนี้ทางอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัยขอกลับไปพิจารณา

“ตอนนี้คนเริ่มเข้าใจแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้นต้องรับผิดชอบต่อลูกค้ามากกว่านี้ เพราะยิ่งลูกค้าขอคืนเบี้ยไปมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงของเขาก็จะดิ่งลงไปเรื่อย ๆ และหากลงไปถึงระดับที่พอควบคุมได้ อาจจะเพิ่มทุนไม่มากแล้ว”

ขณะที่สินมั่นคงฯตอนนี้ยังคงพยายามทำธุรกิจต่อไป โดยมีการเข้ามาขอผ่อนผันเกณฑ์การดำรงเงินกองทุน ซึ่ง คปภ.กำลังพิจารณาให้อยู่ เพราะบางเรื่องผ่อนปรนให้ได้ แต่บางเรื่องก็ไม่ได้

เคลมโควิด ปี’65 แตะ 2 หมื่นล.

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนไม่น่าจะมากกว่าเดลต้าที่มียอดผู้ติดเชื้อทั้งหมด 2.2 ล้านราย เพราะเทรนด์ไม่ได้พุ่งขึ้นแรง โดยคาดการณ์กรณีเลวร้ายสุดจะมียอดผู้ติดเชื้อโอมิครอนใกล้เคียงเดลต้าได้จนถึงเดือน มิ.ย. 65 ที่กรมธรรม์โควิดส่วนใหญ่จะหมดอายุความคุ้มครอง ซึ่งประเมินยอดเคลมโควิดปี 2565 น่าจะกว่า 20,000 ล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าที่สมาคมได้ยื่นขอผ่อนผัน คปภ. ลดนำส่งเงินสมทบของบริษัทประกันภัย 3 ส่วน คือ 1.เงินนำส่งบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ขอลด 10% เหลือ 2.25% เป็นเวลา 1 ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาท

2.เงินนำส่งค่าใช้จ่าย คปภ. และ 3.เงินนำส่งกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถอีกกว่า 600 ล้านบาท เพื่อช่วยประคองสภาพคล่องของแต่ละบริษัท ซึ่งขณะนี้ยังรอการอนุมัติจาก คปภ.

เจอจ่ายจบเหลืออีก 6.7 ล้านฉบับ

นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยคปภ. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมกรมธรรม์โควิดสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 65 มียอดจ่ายเคลมทั้งระบบ 43,300 ล้านบาท

มีเบี้ยประกันภัยรับ 11,000 ล้านบาท จำนวนผู้เอาประกันภัยรวม 41 ล้านราย โดยสิ้นเดือน ก.พ. 65 เหลือกรมธรรม์โควิดแบบเจอจ่ายจบที่ยังมีผลคุ้มครองอยู่อีก 6.7 ล้านฉบับ

“แม้ยอดผู้ติดเชื้อโอมิครอนตอนนี้จะทะลุ 2 หมื่นรายต่อวันไปแล้ว แต่ยอดเบิกเคลมโควิดปีนี้ไม่มากเหมือนปี’64สาเหตุเพราะเป็นกลุ่มกรมธรรม์ของบริษัทที่ถูกปิดกิจการไป หรืออาจจะเป็นการติดรอบ 2 ซึ่งกรมธรรม์มีผลคุ้มครองไปแล้ว” นายอาภากรกล่าว