บี้ธปท.รับเสี่ยงค่าบาทอุ้มSME สศค.-เอ็กซิมแบงก์ชงมาตรการ”ฟิกซ์เรต”

“อภิศักดิ์” บี้แบงก์ชาติอุ้ม “เอสเอ็มอี” ชี้มาตรการ บสย.ยังแก้ไม่ตรงจุดปมค่าเงิน หนุนแนวทางให้ ธปท.รับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแทน “เอสเอ็มอี” พร้อมดึงเอ็กซิมแบงก์เป็นตัวกลางทำฟิกซ์เรตขายเอสเอ็มอี

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลกำลังหามาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ โดยจะพิจารณาว่าจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง ซึ่งในกรณีผู้ส่งออกรายใหญ่ไม่น่ามีปัญหา เพราะมีการปิดความเสี่ยงค่าเงินอยู่แล้ว เพราะมองว่ามาตรการที่ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าไปช่วยนั้น เป็นมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ ไม่ใช่การแก้ปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน จึงแก้ปัญหาไม่จบ ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการด้านอัตราแลกเปลี่ยนออกมา ซึ่งทางเอ็กซิมแบงก์จะร่วมดำเนินการด้วย

“ต้องบอกว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีเขาไม่ค่อยรู้เรื่องปิดความเสี่ยง ซึ่งมาตรการกำลังดูกันอยู่ เอ็กซิมแบงก์ก็ต้องร่วมด้วย” นายอภิศักดิ์กล่าวแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์ที่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อถึงสิ้นปี 2560 กระทรวงการคลังเห็นว่า ควรต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า โดย รมว.คลังสั่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้เข้ามามีส่วนร่วมดูแลเรื่องนี้ โดยให้เอ็กซิมแบงก์ขายสัญญาซื้อดอลลาร์ล่วงหน้า (Put Options) ให้ธปท. วงเงิน 600 ล้านเหรียญ (ราว 2 หมื่นล้านบาท) เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้เอ็กซิมแบงก์ สามารถรับซื้อดอลลาร์แบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Rate) จากผู้ส่งออกเอสเอ็มอี เพื่อให้ผู้ส่งออกได้อัตราแลกเปลี่ยนที่แน่นอน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือกันของเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังกับ ธปท. เพื่อหามาตรการที่เหมาะสม ซึ่งหากได้ข้อสรุปก็จะมีการหารือระดับนโยบายอีกที

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ เอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า วันที่ 24 ก.ค.นี้ เอ็กซิมแบงก์จะนำแนวทางที่จะทำมาตรการไปเสนอให้ รมว.คลังพิจารณา หลังจากได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ว่ามาตรการจะออกมาอย่างไร เพราะยังไม่ทราบว่า ธปท.จะเห็นชอบด้วยหรือไม่ โดยมีการเตรียมแนวทางมาตรการไว้หลาย ๆ แนวทาง ในกรณีที่บางแนวทางไม่ได้รับความเห็นชอบ ก็ต้องทำแนวทางอื่น

“วันจันทร์จะเสนอเรื่องให้ รมว.คลังพิจารณา จากนั้น สศค.ก็จะรับนโยบายไปคุยกับทาง ธปท.” นายพิศิษฐ์กล่าว

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค โดยเป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง เนื่องจากปัจจัยความไม่มั่นคงทางการเมืองของสหรัฐ ตัวเลขทางเศรษฐกิจสหรัฐที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของตลาด โดยในแง่ผลกระทบต่อผู้ส่งออกของไทยนั้น ธปท.มีการเตือนอย่างต่อเนื่องว่าสถานการณ์ที่กระทบค่าเงินบาทเป็นปัจจัยจากนอกประเทศ ดังนั้น การทำป้องกันความเสี่ยง (เฮดจิ้ง) จึงเป็นเรื่องสำคัญ

อย่างไรก็ดี ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ธปท.ก็มีการพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องปรับลดค่าธรรมเนียมเฮดจิ้งให้เหมาะสมกับลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร

“ที่ผ่านมาเห็นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีความสามารถในการทำเฮดจิ้ง ก็เลือกทำเฮดจิ้งเป็นบางช่วง และเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ค่าเงินเคลื่อนไหว ผู้ประกอบการจึงจะเริ่มขายค่าเงินหรือทำเฮดจิ้งพร้อม ๆ กัน ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวค่าเงินมากขึ้นไปอีก ดังนั้น ธุรกิจที่ควรวางแผนทำเฮดจิ้ง เพราะในสภาวะข้างหน้าเราจะเห็นความผันผวนของค่าเงินต่อเนื่อง” นายวิรไทกล่าว

นายพรเทพ ชูพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปีถึง 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากที่สุดในอาเซียนราว 5.4% รองลงมาคือสิงคโปร์แข็งค่า 5%, มาเลเซีย 4.7%, อินโดนีเซีย 1% ส่วนฟิลิปปินส์และเวียดนามกลับอ่อนค่าลงราว 1.6% และ 1.3% ตามลำดับ