กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยอดรูดปรื๊ด 2 เดือนแรกโต 12.3% อานิสงส์ท่องเที่ยว

บัตรเครดิต บัตรเครดิตกรุงศรี

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิด 3 กลยุทธ์ปี 65 เดินหน้าดึงดิจิทัล-เทคโนโลยีให้บริการลูกค้า พร้อมยกระดับโปรดักต์การเงินตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า เล็งออกบริการ “ผ่อนก่อนจ่ายทีหลัง-สินเชื่อบุคคลดิจิทัล-บัตรใหม่” ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตร 3.12 แสนล้านบาท เติบโต 10% จากปี 64 อยู่ที่ 2.85 แสนล้านบาท ลั่นรักษาคุณภาพสินเชื่อ-ช่วยเหลือลูกค้า

วันที่ 14 มีนาคม 2565 นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อันประกอบไปด้วย บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิตโลตัส กล่าวว่า

การดำเนินธุรกิจในปี 2565 กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) อยู่ที่ 3.12 แสนล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 10% มียอดสินเชื่อใหม่ 8.46 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 11% และยอดสินเชื่อคงค้าง 1.49 แสนล้านบาท เติบโต 7% โดยที่ตั้งเป้ายอดสมัครบัตรใหม่อยู่ที่ 5 แสนบัญชี จากปีก่อนปิดยอดอยู่ที่ 3 แสนบัญชี

โดยสัญญาณในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. พบว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรมีอัตราการเติบโตค่อนข้างดีอยู่ที่ 12.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจเริ่มกลับมาตามสัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และการระบาดของโอมิครอนที่มีการติดเชื้อเยอะ แต่ไม่รุนแรงมากนัก ทำให้การใช้จ่ายในหมวดการท่องเที่ยวในประเทศกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะสายการบินมีอัตราการเติบโต 180% ขณะที่ตลาดสินเชื่อบุคคลพบว่ามีอัตราการเติบโตถึง 8.3% เช่นกัน

สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในปี 2565 กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีอยู่ 3 ประการ คือ 1.การใช้ระบบดิจิทัลและข้อมูลในการทำธุรกิจสำหรับอนาคต โดยการขยายแพลตฟอ์ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น

บริการผ่อนก่อนจ่ายทีหลัง (BNPL-Buy Now Pay Later) ผ่านแอป หรือสินเชื่อบุคคลดิจิทัล การเปิดตัวบัตรเครดิตใหม่ๆ อาทิ บัตร XU digital Card ภายหลังจากออก “Now” ไปก่อนหน้า หรือการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ในแอป UCHOOSE เช่น UCASH ที่ได้รับความนิยม ปัจจุบันมียอดการใช้วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท หรือมียอดธุรกรรมกว่า 1.8 ล้านครั้ง ตลอดจนการพัฒนาช่องทาง digital Channel ซึ่งจะมีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อเสนอโปรโมชั่นที่ตรงใจมากขึ้น

2.การสร้างความเติบโตโดยผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรี และพันธมิตรชั้นนำทางธุรกิจ รวมทั้งการขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการทำงานแบบ Krungsri One Retail ซึ่งจะผสานความร่วมมือระหว่างหลายกลุ่มธุรกิจในเครือกรุงศรี

โดยมุ่งเน้นความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ บริการ และโปรโมชั่นที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า พร้อมกับการปรับโมเดลธุรกิจเพื่อแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เช่น นำเสนอบริการ Call Center as a Service, Collection as a Service เพื่อให้บริการกับพันธมิตร เป็นต้น รวมทั้งขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยสู่ภูมิภาคอาเซียน เช่น ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยประสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรี ในภูมิภาค

และ 3.การพัฒนาศักยภาพองค์กร โดยเฉพาะการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ก้าวทันโลกธุรกิจยุคใหม่ พร้อมสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานแบบยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่โลกการเงินแห่งอนาคต

“ต้องยอมรับว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีแห่งรถไฟเหาะของธุรกิจเรา และเพื่อเป็นการเสริมศักยภาพของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ให้สอดรับกับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจในโลกยุคใหม่ รวมถึงความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจการเงินไว้ได้ เราจึงมีการปรับกลยุทธ์ 3 ประการไว้รองรับ ส่วนจะโตกว่าที่เราคาดหวังก็คงต้องรอดูผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เราจะทยอยออกมาในปีนี้ด้วย”

นางสาวณญาณีกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรัลผลประกอบการในปี 2564 ยังคงเติบโตเป็นที่น่าพอใจ แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 2.85 แสนล้านบาท มียอดสินเชื่อใหม่ 7.65 หมื่นล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 1.39 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบริหารค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างดี

โดยค่าใช้จ่ายลดลง -8% เป็นผลมาจากการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยสามารถช่วยลดขั้นตอนการทำงานไปกว่า 3 พันชั่วโมง ควบคู่กับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ด้วยการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม และช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ณ ไตรมาสที่ 4/64 ในส่วนของบัตรเครดิตอยู่ที่ระดับ 1.1% และสินเชื่อส่วนบุคคล 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1.2% และ 3.4% ตามลำดับ ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในธุรกิจ

“ทั้งนี้ หมวดใช้จ่ายผ่านบัตรสูงสุดเรียงตามยอดใช้จ่าย ได้แก่ 1.ประกันภัย 2.ช้อปปิ้งออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ 3.ไฮเปอร์มาร์ทและซูเปอร์มาร์เก็ต 4.ตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ในครัวเรือน 5.ปั๊มน้ำมัน ส่วนหมวดใช้จ่ายที่มีอัตราเติบโตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

1.ช็อปปิ้งออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (+55%) 2.ไอทีและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (+12%) 3.ปั๊มน้ำมัน (+11%) 4. ประกันภัย (+9%) และ 5.ตกแต่งบ้านและของใช้ในครัวเรือน (+8%) ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ยอดการช็อปปิ้งผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มยังคงเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเพิ่มสูงขึ้นถึง 55% เทียบกับปี 2563

ขณะที่ยอดใช้จ่ายในห้างสรรพสินค้ายังคงทรงตัว แต่ที่น่าสนใจคือ ยอดใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของหมวดห้างสรรพสินค้าเติบโตถึง 62% แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการปรับตัวของทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ที่ให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้น มีการปรับรูปแบบเป็นการขายของแบบออมนิแชนเนล คือ ทั้งออนไลน์และหน้าร้าน”