จับทิศตลาดตราสารหนี้ หลังรัสเซียบุกยูเครน

ตราสารหนี้
คอลัมน์ : ช่วยกันคิด
ผู้เขียน : ศิรินารถ อมรธรรม
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

เป็นเวลาเกือบ 4 สัปดาห์นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน เกิดผลกระทบทั่วโลกในหลาย ๆ เรื่อง ได้แก่ ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงมาก ในขณะที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงกว่า 130 $ ต่อบาร์เรลอีกครั้ง รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์และปัจจัยการผลิตหลายอย่างก็ปรับตัวสูงขึ้นมากเช่นกัน

สำหรับ ตลาดตราสารหนี้ไทย แม้ว่าปฏิบัติการทางทหารจะยังไม่ยุติ ณ ปัจจุบันดูเหมือนจะรับมือได้ ไม่ได้เกิดความผันผวน ตื่นตระหนก หรือการเทขายตราสารหนี้ของนักลงทุน ผลกระทบทางตรงค่อนข้างจำกัดวงอยู่ที่การขายออกของนักลงทุนต่างชาติ

และผลกระทบทางอ้อมที่ดูเหมือนตลาดจะขมวดผลกระทบต่าง ๆ ที่จะมีการส่งผ่านในรูปของเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงอันเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ ของหลายประเทศที่ทำให้เกิดการสะดุดของห่วงโซ่อุปทานครั้งใหญ่

จนถึงปัจจุบัน ผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดตราสารหนี้ไทย พอจะสรุปได้ดังนี้

ผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดก็คือ การขายออกของนักลงทุนต่างชาติในตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันแรกที่รัสเซียเริ่มบุกยูเครน โดยในช่วง 24 ก.พ.-15 มี.ค. 2022 ต่างชาติมียอดการขายตราสารหนี้ไทยรวมถึง 101,412 ล้านบาท โดยกว่า 97% เป็นการขายออกในตราสารหนี้ระยะสั้นและขายออกในตราสารหนี้ระยะยาวเพียง 3% หรือ 2,974 ล้านบาท

แสดงให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติยังคงมีความเชื่อมั่นในแนวโน้มเศรษฐกิจไทยกระแสเงินลงทุนสะสมในตราสารหนี้ไทยจากต้นปีจนถึงก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครนที่สูงขึ้น 145,843 ล้านบาท จึงลดลงเหลือ 44,431 ล้านบาท ณ วันที่ 15 มี.ค. 2022 โดยยอดการถือครองตราสารหนี้ไทยของต่างชาติยังอยู่ในระดับสูงกว่า 1.07 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่กว่า 96% เป็นการถือครองในตราสารหนี้ระยะยาว

ในส่วนของบอนด์ยีลด์ไทยระยะสั้นรุ่น 2 ปีค่อนข้างทรงตัว โดยขยับตัวลดลง 4 bps ตั้งแต่ 24 ก.พ. ถึง 15 มี.ค. 2022 ส่วนบอนด์ยีลด์ไทยรุ่น 10 ปี ปรับตัวลดลง 11 bps ลงมาต่ำสุดที่ 2.10% ในช่วง 5 วันภายหลังรัสเซียบุกยูเครน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับบอนด์ยีลด์สหรัฐรุ่น 10 ปี ที่ปรับตัวลงแรงกว่าที่ 27 bps ลงมาต่ำสุดที่ 1.72% จากการที่นักลงทุนหันเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัย

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 2 มี.ค. เมื่อเฟดออกมายืนยันการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อคุมเงินเฟ้อ ก็มีผลให้บอนด์ยีลด์ทั้งไทยและสหรัฐรุ่น 10 ปีกลับทิศ โดยเป็นการปรับตัวขึ้นทันที จนถึงวันที่ 15 มี.ค. 2022 บอนด์ยีลด์ไทยปรับตัวขึ้น 23 bps และสหรัฐสูงขึ้น 43 bps ตามการคาดการณ์ของตลาดต่อแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ และแนวโน้มเงินเฟ้อแม้ว่าการปฏิบัติการทางทหารในยูเครนจะยังไม่ยุติ

สำหรับการออกหุ้นกู้ระยะยาวดูจะไม่ได้รับผลกระทบจากการที่รัสเซียบุกยูเครน โดยมูลค่าการออกหุ้นกู้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 15 มี.ค. 2022 มีมูลค่าที่ 215,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% จากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาซึ่งถือเป็นปีที่ฟื้นตัวจากโควิดแล้ว เนื่องจากมูลค่าการออกของทั้งปี 2021 สูงขึ้นไปทะลุ 1 ล้านล้านบาท เป็นปีที่สอง สูงกว่าปี 2020 กว่า 50% โดย credit spread ของทุกเรตติ้งค่อนข้างจะทรงตัว ไม่ได้มีการกระชากตัวสูงขึ้นหลังการบุกยูเครนของรัสเซียเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2022

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นหนึ่งที่น่าติดตามว่าจะมีผลกระทบกับตลาดตราสารหนี้ไทยมากแค่ไหน ก็คือเรื่องการผิดนัดชำระของพันธบัตรรัฐบาลรัสเซียโดยเฉพาะที่เสนอขายในสกุลเงินดอลลาร์ นักลงทุนส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติไม่ใช่ชาวรัสเซีย มีกำหนดชำระดอกเบี้ยมูลค่า 117 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 16 มี.ค. 2022 โดยมีกำหนดระยะเวลาจ่ายได้ช้าสุดภายใน 30 วัน ไม่อย่างนั้นจะถือว่าเป็นการผิดนัดชำระซึ่งอาจจะสร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาดได้

แต่จากที่มีการนำเสนอข่าวมาแล้วตั้งแต่ต้นเดือน ตลาดดูเหมือนจะรับรู้และคาดการณ์ไปแล้วว่าจะเกิดขึ้น จึงไม่น่าจะมีผลกระทบมากมายนัก

โดยสรุป จากผลกระทบในตลาดทุนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ดูเหมือนนักลงทุนจะรับรู้ผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดไปเกือบหมดแล้ว โดยกำลังรอดูว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีแค่ไหน และสถานการณ์เงินเฟ้อว่าจะกดดันให้ต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ และประเทศเศรษฐกิจสำคัญเพียงใด