ธ.ก.ส.ขยายกลุ่มลูกค้าสินเชื่อ แก้ปมเกษตรกรอ่วมหนี้-ลดกู้

ธ.ก.ส. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (

ขุนคลังสั่ง ธ.ก.ส.ขยายกลุ่มเป้าหมายปล่อยกู้ปีบัญชี’65 ปักธงสินเชื่อใหม่ 3.3 หมื่นล้านบาท รุกปล่อยกู้ “สินเชื่อเอพลัส” เจาะฐานลูกค้าครอบครัวเกษตรกร 3 กลุ่ม หวังช่วยปั๊มยอดสินเชื่อทดแทนกลุ่มเกษตรกรที่มีแนวโน้มกู้น้อยลง หลังอ่วมสารพัดผลกระทบ “ต้นทุนการผลิตพุ่ง-น้ำมันแพง-ภัยธรรมชาติ”

แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางการดำเนินงานของ ธ.ก.ส.ในปีบัญชีใหม่ที่กำลังจะเริ่มในวันที่ 1 เม.ย.นี้ หรือบัญชี 2565 (เม.ย. 2565-มี.ค. 2566) ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคาร ประชุมเมื่อกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นประธาน ได้ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ 33,000 ล้านบาท พร้อมอนุมัติให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อเอพลัสสำหรับดูแลครอบครัวเกี่ยวเนื่องกับเกษตรกร 3 กลุ่ม เพื่อขยายพอร์ตลูกค้าไปสู่กลุ่มใหม่ ๆ

“ธนาคารมองว่าสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ เกษตรกรมีภาระเรื่องหนี้สิน ต้นทุนการผลิต และสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นด้วย อาจทำให้ยอดการขอสินเชื่อไม่ได้เติบโตมากนัก จึงหันมาออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดูแลลูกค้าที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเกษตรกร เพื่อให้ยอดการปล่อยสินเชื่อเติบโตขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับสินเชื่อเอพลัสดังกล่าวจะให้กู้ได้สูงสุดรายละ 20,000 บาท ผ่อนชำระนาน 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยตามชั้นปกติ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มลูกค้าที่ยกยอดมาจากโครงการสานฝันสร้างอาชีพ ซึ่งที่ผ่านมาเคยอนุมัติสินเชื่อให้รายละ 50,000 บาท และสินเชื่อฉุกเฉินสู้ภัยโควิด กู้รายละ 10,000 บาท โดยหากเป็นลูกค้าที่มีการชำระหนี้ดีอย่างต่อเนื่องก็จะต่อยอดให้สามารถเข้ามาขอสินเชื่อในส่วนนี้ได้ด้วย คาดว่าจะมีลูกค้าจากกลุ่มนี้เข้ามาขอสินเชื่อกว่า 30-40% จากยอดทั้งหมด 5 แสนราย

2.กลุ่มจิตอาสาด่านหน้า เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ส่วนใหญ่กลุ่มนี้มีบัญชีสวัสดิการ เบี้ยเลี้ยงต่าง ๆ ที่ใช้โอนเงินผ่านบัญชี ธ.ก.ส.เกือบ 1 ล้านราย กลุ่มนี้ธนาคารจะสามารถวิเคราะห์ศักยภาพผู้ต้องการขอสินเชื่อได้ และจะทำให้ลดปัญหาการพึ่งพาการกู้หนี้นอกระบบด้วย ซึ่งทาง ธ.ก.ส.มีความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าจะมีลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามาขอสินเชื่อกว่า 2 แสนราย

และ 3.เป็นกลุ่มบุตรหลานเกษตรกรที่มีรายได้ประจำ ทำงานกับพันธมิตรของ ธ.ก.ส. เช่น ห้างสรรพสินค้าโลตัส หรือซูเปอร์มาร์เก็ตอื่น ๆ ซึ่งกำหนดว่าต้องทำงานที่บริษัท ห้างร้าน อายุงาน 3 ปีขึ้นไป มีรายได้ต่อเดือนไม่น้อยกว่า 15,000 บาท และเป็นทายาทเกษตรกร ซึ่งจะเป็นวงเงินหมุนเวียนให้กับกลุ่มเหล่านี้ด้วย โดยคาดว่าจะมีผู้เข้ามาขอสินเชื่อประมาณ 3-5 หมื่นราย

“ปีนี้เราตั้งเป้าที่จะขยายสินเชื่อไปกลุ่มใหม่ ๆ เพราะในพอร์ตของกลุ่มเกษตรกร มีภาระเรื่องต้นทุน ภาวะราคาน้ำมัน ภัยธรรมชาติ เราคิดว่ายอดการขอสินเชื่อจะเติบโตได้ไม่มาก ดังนั้น พอร์ตที่จะเข้ามาสนับสนุนให้สินเชื่อ ธ.ก.ส.เติบโต ก็คือกลุ่มเหล่านี้ แม้จะไม่มาก แต่ก็จะเห็นรายรับเป็นรายเดือน” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.ยังได้เตรียมสินเชื่อฤดูกาลผลิตใหม่ สำหรับเกษตรกรที่จะเริ่มเพาะปลูก ทำไร่นาในช่วงเดือน พ.ค.นี้ วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยตามชั้นปกติ MRR 6.5% เพื่อเป็นการเติมทุนให้กับเกษตรกรในช่วงที่เริ่มเพาะปลูก เพราะจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลให้ปุ๋ยมีราคาแพง อาจกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร

“การให้สินเชื่อจะดำเนินการควบคู่ไปกับปัจจัยการผลิต ซึ่งจากต้นทุนราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น ธ.ก.ส.จะพยายามรณรงค์ให้เกษตรกรมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมี โดย ธ.ก.ส.มีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยจะมีการให้ความรู้ตั้งแต่เรื่องปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้เกษตรกรหันมาลดต้นทุนในการผลิต และรู้จักการทำปุ๋ยใช้เอง” นายสมเกียรติกล่าว