ดอลลาร์อ่อนค่า จับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐวันพรุ่งนี้

เงินดอลลาร์สหรัฐ
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์อ่อนค่า จับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐวันพรุ่งนี้(1 เม.ย.) สำหรับปัจจัยภายในประเทศ แบงก์ชาติแถลงเศรษฐกิจไทยเดือน ก.พ. 65 ยังอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 33.25/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

วันที่ 31 มีนาคม 2565 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/3) ที่ระดับ 33.20/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (30/3) ที่ระดับ 33.29/31 บาท ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ

โดยนายจอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐเปิดเผยว่า สหรัฐไม่มั่นใจในคำมั่นสัญญาของรัสเซียที่ว่าจะลดปฏิบัติการทางทหารในกรุงเคียฟและเมืองเชอร์นิฮิฟ โดยนายเคอร์บีมองว่า การที่รัสเซียถอนกำลังทหารบางส่วนออกจากกรุงเคียฟนั้นเป็นการ “กลับมาตั้งหลัก” ไม่ใช่การถอนทหารอย่างแท้จริง พร้อมกับแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะใช้กำลังโจมตีครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ของยูเครน

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 455,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 450,000 ตำแหน่ง

ส่วนทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2564 ขยายตัว 6.9% ซึ่งเท่ากับตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 แต่ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 7.0% และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 7.1%

นอกจากนี้นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มี.ค.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 460,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. ซึ่งน้อยกว่าในเดือน ก.พ.ที่พุ่งขึ้น 678,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราว่างงานเดือน มี.ค.จะลดลงสู่ระดับ 3.7%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ. 65 ยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว โดยการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นบ้างตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับดีขึ้น ขณะเดียวกันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการกลับมาเปิดลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นบ้าง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานและอาหารสด รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เร่งขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูป ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นบ้างแต่โดยรวมยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลงจากเดือนก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลรายได้ บริการ และเงินโอนยังขาดดุลต่อเนื่อง

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.19-33.39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.25/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (31/3) ที่ระดับ 1.1157/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (30/3) ที่ระดับ 1.1134/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยยูโรได้รับปัจจัยหนุนจากความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แต่ทั้งนี้ก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1113-1.1184 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1126/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/3) ที่ระดับ 121.86/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (30/3) ที่ระดับ 121.87/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ.ปรับตัวขึ้น 0.1% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดโลกช่วยให้การผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น และนับเป็นสัญญาณบวกสำหรับรัฐบาลซึ่งตั้งความหวังที่จะพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากภาวะเปราะบาง

อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ.ของญี่ปุ่นขยายตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดไว้ว่าอาจจะปรับตัวขึ้น 0.5% ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเผชิญผลกระทบจากปัญหาคอขวดด้านอุปทานและความเสี่ยงด้านอื่น ๆ เช่น ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 121.35-122.45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 122.01/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ (1/4), ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิตเดือน มี.ค.ของสหรัฐ (1/4) และรายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลของสหรัฐ (1/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.4/0.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.0/+2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ