“ธนชาต” ส่งทีมไดเร็กต์เซลบุก ลูกค้าใหม่-ออนไลน์ดันยอดบัตรเครดิต

ภาพ Pixabay

ธนชาตงัดกลยุทธ์ขยายฐานบัตรเครดิต ตั้งทีมไดเร็กต์เซลส์เพิ่มฐานลูกค้า โหมช่องทางออนไลน์ แก้เกมลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมไม่เข้าสาขา ส่งผลยอดธุรกรรมที่สาขาลดฮวบ ระบุกลยุทธ์ใหม่ได้ผลลูกค้าแห่สมัครบัตรเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว มั่นใจทำยอดสมัครบัตรใหม่ปีนี้แตะ 5 หมื่นบัตร จากปีก่อน 2 หมื่นบัตร

นางธีรนุช ขุมทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจลูกค้ารายย่อย ธนาคารธนชาต เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับกลยุทธ์ช่องทางการหาลูกค้าใหม่ โดยการตั้งแผนกไดเร็กต์เซลล์ขึ้นมาเป็นอีกหน่วยงานของธนาคาร จากเดิมที่ธนาคารจ้างเอาต์ซอร์ซ เพื่อช่วยขยายฐานลูกค้าในส่วนของบัตรเครดิตเพิ่ม แต่เนื่องจากพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป มีการหันไปใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้การทำธุรกรรมที่สาขาลดน้อยลง

ธีรนุช ขุมทรัพย์

“ธนาคารได้เริ่มตั้งแผนกไดเร็กต์เซลขึ้นมาช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าหลังเปิดช่องทางดังกล่าว ส่งผลให้มียอดสมัครบัตรใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว หรือประมาณ 3,000 – 4,000 บัตร จากช่วงก่อนหน้าที่มียอดสมัครเพียง 1,000-2,000 บัตรต่อเดือนเท่านั้น โดยตอนนี้มีพนักงานไดเร็กต์เซลอยู่กว่า 100 คน ดูด้านการหาลูกค้าและเจาะกลุ่มลูกค้าได้ตรงจุดมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนแผนการหาลูกค้าของธนาคาร เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยน โดยไม่ไปสาขาแล้ว ทำให้ต้องคิดช่องทางใหม่ อีกด้านคือการบุกออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้เรามีโอกาสได้ลูกค้าใหม่และฐานบัตรที่กว้างขึ้น” นางธีรนุชกล่าว

สำหรับยอดสมัครบัตรใหมใน่ปีนี้ ธนาคารคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 50,000 บัตรได้ ซึ่งจะมากกว่าปี 2559 ที่มีฐานบัตรใหม่จำนวนเพียง 20,000 บัตร เพิ่มถึงเท่าตัว ขณะที่ยอดฐานบัตรคงค้างล่าสุดอยู่ที่ 5 แสนบัตร โดยธนาคารคาดว่า หากเพิ่มช่องทางการหาลูกค้าใหม่และการหาลูกค้าในช่องทางออนไลน์มากขึ้น จะทำให้ยอดสมัครบัตรใหม่ปี 2561 เติบโตได้ต่อเนื่องอีกราว 20% จากปีนี้

นอกจากนี้ ในส่วนยอดการใช้จ่าย (สเปนดิ้ง) ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือนพ.ย. และ ธ.ค. 2560 ยอดสเปนดิ้งจะเติบโตสูงถึง 20% เทียบกับแต่ละเดือนก่อนหน้าที่โตเฉลี่ยเพียง 10% เท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธนาคารมีการอัดแคมเปญการตลาดมากขึ้น เพื่อเพิ่มยอดการใช้จ่ายบัตร เช่น การให้ส่วนลดในการช็อปผ่านบัตรเครดิต ทั้งรับประทานอาหาร ซื้อสินค้า และท่องเที่ยว รวมถึงการให้เงินคืน (แคชแบ็ก) เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้ยอดสเปนดิ้งโดยรวมปีนี้ น่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ราว 10% จากปีก่อนที่ยอดการใช้จ่ายบัตรอยู่ระดับ 30,000 ล้านบาท

ในส่วนบัตรเดบิตของธนาคารนั้นนางธีรนุชกล่าวว่า ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมจากกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มมาสู่การรูดใช้จ่ายผ่านเครื่องอัตโนมัติ (EDC) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดหวังว่าปีหน้าจะเห็นสัดส่วนการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้นราว 2-3% จากปีนี้ที่สัดส่วนการใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 6% เท่านั้น