ตัวเลขจ้างงานสหรัฐแกร่ง หนุนดอลลาร์แข็งค่า

ภาพ : pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/4) ที่ระดับ 33.43/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/4) ที่ระดับ 33.42/45 บาท ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานเพิ่มขึ้นในเดือน มี.ค.ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า อัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.6% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7%

ส่วนตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 431,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 490,000 ตำแหน่ง และเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.8 ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2564 และสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 58.5 จากระดับ 57.3 ในเดือน ก.พ. โดยดัชนี PMI ที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว

โดยหลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงาน FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 73.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 3-4 พ.ค. โดยก่อนหน้านี้นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ได้ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระบุไว้ว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกินไป ซึ่งหากจำเป็น เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในการประชุมหนึ่งครั้งหรือหลายครั้ง นอกจากนี้เมื่อคืนวันศุกร์ นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโกกล่าวว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 7 ครั้งในปีนี้เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน มี.ค. 65 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 117.92 ดีขึ้นเล็กน้อยจาก 113.03 ในการสำรวจครั้งก่อน ยังอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”

และนอกจากนี้ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ในเดือน มี.ค. 65 ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลงมาที่ 3.09% จากการสำรวจเดือน ม.ค. 65 อยู่ที่ 3.71% เนื่องจากมีปัจจัยความเสี่ยงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ราคาพลังงานที่ปรับขึ้นสูง เศรษฐกิจโลกชะลอลงจากเดิม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.45-33.54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และปิดตลาดที่ระดับ 33.49/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (4/4) ที่ระดับ 1.1034/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์(1/4) ที่ระดับ 1.1053/54 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยยูโรอ่อนค่าตามดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น แม้สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีจะเปิดเผยว่า ยอดการส่งออกและนำเข้าของเยอรมนีพุ่งขึ้นเกินคาดในเดือน ก.พ. เนื่องจากการค้าต่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครน

แต่อย่างไรก็ดี คาดว่าทั้งยอดนำเข้าและการส่งออกของเยอรมนีในเดือน มี.ค.จะถูกกระทบอย่างหนักจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ยังหาทางออกไม่ได้ โดยยอดส่งออกเดือน ก.พ.ของเยอรมนีเพิ่มขึ้น 6.4% ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.5% ส่วนยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 4.5% ในเดือน ก.พ. ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.4% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1020-1.1055 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1021/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/4) ที่ระดับ 122.61/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์(1/4) ที่ระดับ 122.01/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินเยนยังคงถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่แข็งแกร่งอาจทำให้เฟดต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 122.29-122.81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 122.60/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานสหรัฐ เดือน ก.พ. (4/4), ดุลการค้าสหรัฐฯ เดือน ก.พ. (5/4), ดัชนี PMI ภาคบริการจากสถาบัน ISM เดือน มี.ค. (5/4) ,รายงานการประชุมโนบายการเงินอีซีบี (7/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.4/0.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.0/+2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ