ประกันโหมอินชัวร์เทค ปูพรมนวัตกรรมแข่งเดือด

ในโลกยุคดิจิทัลที่ก่อให้เกิดเทคโนโลยีไล่ล่า หรือภาวะ “disrupted” ทุกธุรกิจต่างดิ้นปรับตัวไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจ “ประกันภัย” ที่ถูกต้อนเข้ามาเช่นกัน เรียกว่า “อินชัวร์เทค” เพื่อเพิ่มโอกาสความอยู่รอด

ด้วยความที่ธุรกิจของประกันมีข้อมูลของลูกค้ามากมาย ดังนั้น ผู้ที่สามารถบริหารจัดการกับข้อมูลเหล่านี้ หรือที่เรียกกันศัพท์ไอทีว่า “บิ๊กดาต้า” ให้เกิดประสิทธิภาพก็จะได้เปรียบในทุกมิติ เพราะว่าทุกวันนี้กิจกรรมต่าง ๆ ถูกแปรเป็นข้อมูลดิจิทัลหมดแล้ว ซึ่งไม่เพียงแต่ภาคธุรกิจเอกชนที่ต้องปรับตัว แม้แต่หน่วยงานกำกับธุรกิจก็ต้องปรับตัว ซึ่ง “สุทธิพล ทวีชัยการ” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ปักธงยุทธศาสตร์ปีนี้ให้เป็น “ปีแห่งการขับเคลื่อนการประกันภัยในยุคดิจิทัล” รวมทั้งได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น “Motor Risk” ขึ้นมาด้วย

“แอปนี้จะช่วยค้นหาข้อมูลกว่า 8 ฟังก์ชั่น เช่น การแจ้งเตือนวันหมดอายุ การแจ้งอุบัติเหตุ การค้นหาข้อมูลสายด่วนของทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การตรวจสถานะการเคลมด้วยการกรอกเลขเคลมหรือเลขบัตรประจำตัวประชาชนเป็นต้น นอกจากนี้ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น “รอบรู้ประกันภัย” ช่วยในการค้นหาข้อมูลข่าวสารและประกาศต่าง ๆ ของสำนักงาน คปภ.

ขณะที่ค่ายประกันรายแรก ๆ คือ “เมืองไทยประกันชีวิต” ปั้นทีมงานก่อตั้ง “Fuchsia Innovation Center” เพื่อระดมมันสมองเหล่า “สตาร์ตอัพ” ช่วยคิดค้นพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ให้ตอบสนองไลฟ์สไตล์ลูกค้าเฉพาะบุคคลมากขึ้น โดย “สาระ ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เล่าว่า ล่าสุดฟูเซียได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น “GetGo” เสิร์ฟบริการลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เอื้อให้กับผู้บริโภคที่ไม่ต้องการซื้อประกันผ่านช่องทางอื่น ที่สำคัญ “เปิดกว้าง” ให้ลูกค้าเลือกซื้อประกันกับทุกบริษัทใดก็ได้

โดยก่อนหน้านี้ก็เคยร่วมมือกับสตาร์ตอัพในฮ่องกง ทดสอบนวัตกรรมการป้องกันและการดูแลสุขภาพผ่านโครงการ “myTHAIDNA” บริการตรวจ DNA จากน้ำลายบริเวณกระพุ้งแก้มเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงในการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงจับมือสตาร์ตอัพไทยกลุ่มเฮลท์เทคพัฒนาโครงการ “Health at Home” บริการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่บ้านในแบบโฮมแคร์ด้วยระบบ real-time analytics ติดตามการดูแลรักษาได้ตลอดเวลาผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลกว่า 315 คน คอยให้บริการ

“เราได้วางเป้ารองรับ S-curve ใหม่ของธุรกิจประกันชีวิต 3-5 ปีข้างหน้า” นายสาระกล่าว

ด้าน “อลิอันซ์ อยุธยาฯ” จัดใหญ่ควงคู่พาร์ตเนอร์ เปิดโครงการ “Allianz Ayudhya Activator” บ่มเพาะสตาร์ตอัพด้านอินชัวร์เทคที่มีศักยภาพพัฒนาแผนธุรกิจ โดย “ไบรอัน สมิธ” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทนี้ กล่าวว่า เห็นความสำคัญของสตาร์ตอัพไทยที่เข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งกลุ่มที่มีไอเดียบรรเจิด 3 กลุ่มสุดท้ายจะได้รับเงินเริ่มต้นธุรกิจมูลค่ารวม 2 ล้านบาท และได้เข้าทดสอบใน (sandbox) ของสมาคมฟินเทค โดยหนึ่งเดียวที่สร้างสรรค์นวัตกรรมสุดเจ๋ง จะถูกนำมาทดลองใช้จริงกับลูกค้าอลิอันซ์ อยุธยาฯในปี’61

ขณะที่ “โรบิน โล” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดิจิทัล อลิอันซ์ เอเชีย กล่าวว่า เราได้จัดตั้งดิจิทัลแล็บในสิงคโปร์ ซึ่งมีทีมงานวิเคราะห์ข้อมูลที่จะช่วยให้อลิอันซ์สามารถนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ ๆ ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค รวมถึงสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มของตัวเอง เพื่อสามารถเปิดให้บริการกับพาร์ตเนอร์เราในการเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล หรือเรียกว่า “Application Platform Interface” (API)

“โครงการนี้ใช้งบฯลงทุนกว่า 15 ล้านบาท ช่วยตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลของเรา รวมไปถึงครองความเป็นผู้นำด้านสุขภาพต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันเรามีเบี้ยความคุ้มครองสุขภาพสัดส่วนอยู่ที่ 46% ของพอร์ตรวม ติดอันดับท็อปทรีของอุตสาหกรรมประกันชีวิตไทย” นายไบรอันกล่าว

ข้ามมาฝั่งประกันวินาศภัย ค่าย “เมืองไทยประกันภัย” ที่มีเบี้ยรับรวมช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ต.ค. 60) ประมาณ 8 พันล้านบาท ซึ่งมาจากพอร์ตประกันภัยรถยนต์ที่เป็น (ท็อปไลน์) ราว 6 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 50% ของเบี้ยรับรวม โดย “นวลพรรณ ลํ่าซำ” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เล่าว่า บริษัทได้ลงทุนศึกษาและวิจัยร่วมกับบริษัท อินซูร่า ประเทศไทย ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพรุ่นใหม่เข้ามาช่วย วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อมาคำนวณค่าเบี้ยตามพฤติกรรมการขับขี่แต่ละรายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ใหม่ในอนาคต

ล่าสุด!ได้ประเดิมออกแอปพลิเคชั่นขับขี่ปลอดภัย “Muang Thai iDrive” ผ่านการอนุมัติในโครงการ Regulatory Sandbox ของ คปภ.แล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 6-9 เดือน ในการเก็บข้อมูลและประมวลผลก่อนจะนำมากำหนดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ซึ่งเน้นพฤติกรรมการขับขี่ได้ช่วงไตรมาส 3/61

ขณะที่ “วาสิต ล่ำซำ” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บอกว่า บริษัทได้ส่งนวัตกรรมใหม่เข้าไปทดสอบใน sandbox คปภ.อีก 1-2 เรื่อง คือ ประกันรูปแบบ Peer-to-Peer เน้นกลุ่มคนขับรถดี ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการเคลม และประกันภัยส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจาก คปภ.

“ปัจจุบันลูกค้าประกันรถยนต์ชั้น 1 ทั้งสิ้น 4 แสนราย หรือกว่า 80% ของพอร์ตรถยนต์ทั้งหมด 5 แสนราย ซึ่งพบว่ามีลูกค้าที่ไม่เคยมีการเคลมเฉลี่ย 60% และอีก 40% มีทั้งเคลมสดและเคลมแห้ง ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาช่วย ทำให้ผู้ขับขี่ดีจ่ายเบี้ยถูกลงในอนาคต นี่คือผลที่คาดจะตามมาของค่ายเมืองไทยฯ

ขณะที่ค่าย “เจนเนอราลี่ประกันภัย” จับมือ “เอ็มพี กรุ๊ป” ผู้เชี่ยวชาญด้านตรวจสุขภาพและเทคโนโลยีแล็บที่ทันสมัยมอบบริการตรวจสุขภาพให้ลูกค้าที่ซื้อประกันสุขภาพ Gen Health LumpSum ฟรีผ่านโปรแกรม Preventive health care ที่สามารถตรวจวิเคราะห์มะเร็งได้ในเวลาอันสั้นและมีความแม่นยำสูง รวมถึงตรวจโรคต่าง ๆ สรุปผลเชิงลึกได้ภายใน 12 วันส่งผลตรวจผ่านอีเมล์ลูกค้าทันที ปัจจุบันทำมาได้เกือบ 3 เดือน มีลูกค้าเจนเข้ามากว่า 100 ราย ตั้งเป้าหมายสูงสุด 3,000-4,000 คนต่อปี


ธุรกิจบนโลกดิจิทัลที่เต็มไปด้วยความท้าทายและโอกาสมากมาย หากค่ายประกันใดยังไม่ปรับทัพทรานส์ฟอร์มสู่ “เกมอินชัวร์เทค” ก็มีโอกาสสูงที่เส้นทางธุรกิจสั้นลงแน่นอน