ปี 2561…ดอกเบี้ยขาขึ้น

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

ปี 2561 นั้นเป็นที่คาดการณ์ในทิศทางเดียวกันเกือบทุกสำนักว่า เศรษฐกิจโลกน่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปีนี้ ที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างประสานกัน หรือครอบคลุมในหลายภูมิภาค หรือที่เรียกว่า synchronized global growth

โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คำถามที่ตามมาในส่วนของนโยบายการเงิน คือ ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ จะเริ่มปรับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมาก เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะเศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะเห็นธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นดอกเบี้ยชี้นำในปีหน้านี้

การที่ธนาคารกลางต้องหันกลับมาพิจารณาเรื่องนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายนั้นเป็นเพราะกังวลว่า ดอกเบี้ยที่ต่ำนานเกินไปจะจูงใจให้เกิดการกู้เงินเพื่อเก็งกำไร หรือการบริโภคมากเกินไป จนอาจก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพของระบบการเงิน (fi-nancial stability) ได้ ดังจะเห็นว่าธนาคารกลางหลายแห่ง รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยก็แสดงความกังวลเรื่องนี้

ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวได้มั่นคงในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวในหลายประเทศเริ่มเข้าใกล้ระดับการฟื้นตัวเต็มที่แล้ว หากยังดำเนินนโยบายกระตุ้นต่อ ก็จะทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงจนสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อได้ ธนาคารกลางจึงมีหน้าที่ที่จะป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป จึงต้องเริ่มถอนตัวจากนโยบายที่ผ่อนคลายอย่างมากกลับเข้าสู่โหมดปกติ (policy normalization)

ดังนั้น ธนาคารกลางทั้งหลายจึงกำลังจับตาดูแนวโน้มเงินเฟ้อว่ามีแรงกดดันมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งในเรื่องของเงินเฟ้อนั้นต้องยอมรับว่า เงินเฟ้อโลกในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในอดีต (เป็นข้อกังขาที่ธนาคารกลางต่าง ๆ พยายามหาคำอธิบาย)

อย่างไรก็ตามก็มีความกังวลว่า เงินเฟ้ออาจจะเร่งตัวขึ้นในระยะอันใกล้ได้ เช่น กรณีของสหรัฐ ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องมาในระดับที่ธนาคารกลางประเมินว่าสูงใกล้ระดับศักยภาพ และตลาดแรงงานก็ตึงตัวต่อเนื่อง โดยอัตราการว่างงานปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 4 ซึ่งเป็นระดับการจ้างงานเต็มที่ ทำให้กังวลว่าจะส่งผลให้อัตราค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งถ้าค่าจ้างปรับสูงขึ้นก็จะสร้างแรงกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางสหรัฐจึงเริ่มปรับดอกเบี้ย (แม้ว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 2) ตั้งแต่ปลายปี 2559 และปรับต่อเนื่องในปี 2560 รวมแล้วปรับเพิ่มขึ้น 1% มาอยู่ที่ 1-1.25% ในปัจจุบัน และคาดการณ์อย่างแพร่หลายว่า การประชุมในเดือนธันวาคมนี้ (วันที่ 12-13 ธันวาคม) จะปรับดอกเบี้ยเพิ่มอีก 0.25% เป็น 1.25-1.50%

นอกจากนี้ก็มี ธนาคารกลางแคนาดา อังกฤษ และล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน ธนาคารกลางเกาหลี ประกาศปรับดอกเบี้ยอ้างอิงขึ้นในปีนี้ โดยปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของแคนาดา อยู่ที่ร้อยละ 1 อังกฤษ อยู่ที่ร้อยละ 0.5 และเกาหลี อยู่ที่ร้อยละ 1.5

สำหรับในปี 2561 นั้นเป็นที่คาดว่า แนวโน้มปรับดอกเบี้ยจะขึ้นต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางสหรัฐนั้นน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2-2.25% (คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.9% ในปี 2018) การปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐจะสร้างแรงกดดันให้ประเทศต่าง ๆ ต้องปรับนโยบายการเงินของตน เพราะโดยปกติดอกเบี้ยสหรัฐจะเป็นดอกเบี้ยชี้นำดอกเบี้ยโลก

นอกจากทิศทางของดอกเบี้ยสหรัฐที่เป็นขาขึ้นแล้ว หลายประเทศที่เศรษฐกิจภายในฟื้นตัวขึ้น หรือมีสัญญาณเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ก็มีแนวโน้มว่าธนาคารกลางนั้น ๆ ต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นตามสหรัฐ เช่น อังกฤษ แคนาดา เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ฮ่องกง และออสเตรเลีย

ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นประมาณ 0.25-0.50% ส่วนยุโรป และญี่ปุ่นนั้นอาจจะพยายามยื้อและยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม

สำหรับประเทศไทย หากดอกเบี้ยสหรัฐปรับขึ้นตามคาด สิ้นปีนี้ก็จะอยู่ในระดับเดียวกับดอกเบี้ยนโยบายของไทย และปีหน้าตามคาดการณ์จะอยู่ที่ 2-2.25% ซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5%

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่จำเป็นต้องรีบปรับดอกเบี้ยตามสหรัฐ คือ

1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่กระจายอย่างทั่วถึง การฟื้นตัวมีความชัดเจนเฉพาะภาคที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศและกำลังซื้อยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย และผู้มีรายได้น้อย

2.เงินเฟ้อไทยอยู่ต่ำกว่าทุกประเทศในเอเชีย และต่ำกว่าสหรัฐ และยุโรป ซึ่งนอกจากสะท้อนถึงราคาน้ำมัน และราคาอาหารที่อยู่ในระดับต่ำ ก็น่าจะมีผลมาจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจภายในบางส่วน

3.การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (รายได้สุทธิจากการส่งออกสินค้าและบริการ) ปีหน้าจะยังอยู่ในระดับสูงเพียงพอที่จะชดเชยการไหลออกของเงินทุนที่จะเกิดขึ้นหากดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าดอกเบี้ยสหรัฐ

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ปีหน้าดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจจะอยู่ต่ำกว่าดอกเบี้ยสหรัฐ 0.5-0.75% แต่ถึงแม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ปรับเพิ่มขึ้น การที่ดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าดอกเบี้ยสหรัฐ ก็น่าจะทำให้สภาพคล่องในระบบปรับลดลง ส่งผลให้ดอกเบี้ยในตลาดเงิน และตลาดพันธบัตรระยะสั้น (1 เดือน ถึง 1 ปี) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำมาก (ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย) ต้องปรับเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบัน รวมทั้งดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว 10 ปีก็น่าจะปรับขึ้นจากระดับปัจจุบันเช่นกัน

เพราะฉะนั้นก็น่าจะกล่าวได้ว่า ปีหน้าดอกเบี้ยขาขึ้น