ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง หลังสหรัฐมีมติผ่านร่างปฏิรูปภาษี

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 20 ธันวาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.68/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (19/12) ที่ระดับ 32.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านปรับตัวขึ้นในเดือนพฤศจิกายน แตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี สวนทางคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยได้แรงหนุนจากการสร้างบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยว ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ทั้งนี้ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 3.3% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 1.297 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ 1.250 ล้านยูนิต นอกจากนี้วุฒิสภาสหรับ มีมติผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีด้วยคะแนนเสียง 51 ต่อ 48 ในช่วงเช้ามืดของวันพุธ (20/21) ตามเวลาสหรัฐ และได้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติต่อไป ภายหลังจากที่วุฒิสมาชิกสามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเนื้อหาในนาทีสุดท้าย โดยก่อนหน้านี้ ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีได้ถูกวุฒิสภาส่งกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาลงมติอีกครั้ง เนื่องจากมีบทบัญญัติบางส่วนในร่างกฎหมายที่ขัดต่อกฎเกณฑ์ด้านงบประมาณของวุฒิสภา

ส่วนความเคลื่อนไหวภายในประเทศ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยนายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ กนง. ระบุว่า ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ชัดเจนขึ้น และขยายตัวได้สูงกว่าที่ประเมินไว้เดิม โดยได้รับแรงส่งจากภาคต่างประเทศ รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ประเมินไว้ ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้านเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในระยะต่อไป โดยนายจาตุรงค์ จันทรังษ์ กล่าวว่าคณะกรรมการเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบัน มีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 32.69-32.84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 32.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (20/12) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1843/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (19/12) ที่ระดับ 1.1806/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยมีรายงานว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะตัดสินใจอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ยุโรปสามารถดำเนินงานในสหราชอาณาจักรได้ตามเดิม หลังจากสหราชอาณาจักรได้แยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในเดือนมีนาคม 2562 ทั้งนี้รายงานระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ยุโรปที่ให้บริการทางการเงินและบริการอื่น ๆ ให้แก่องค์กรธุรกิจและธนาคารด้วยกันเอง จะสามารถดำเนินงานได้ตามปกติผ่านทางสาขาธนาคาร โดยที่ไม่ต้องจัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีต้นทุนสูง โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่ BoE ถูกกดดันจากบรรดารผู้บริหารธนาคารและล็อบบี้ยิสต์ในภาคการเงินให้ออกใบอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ยุโรปที่ประสงค์จะดำเนินงานในอังกฤษต่อหลังจาก Brexit โดยปัจจุบัน มีธนาคารยุโรปกว่า 100 แห่งที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในอังกฤษภายใต้กฎระเบียบของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1829-1.1854 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (20/12) เปิดตลาดที่ระดับ 112.95/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (19/12) ที่ระดับ 112.56/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า สินทรัพย์ด้านการเงินซึ่งถือครองโดยภาคครัวเรือนญี่ปุ่นนั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.845 ล้านล้านเยน (16 ล้านล้านดอลลาร์) ณ สิ้นเดือนกันยายน โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าหุ้นและสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ อันเนื่องมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตามประเภทสินทรัพย์พบว่า ภาคครัวเรือนญี่ปุ่นถือครองหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 22.1% แตะระดับ 198 ล้านล้านเยน และยอดการถือครองกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุน เพิ่มขึ้น 16.3% สู่ระดับ 104 ล้านล้านเยน ขณะยอดการถือครองเงินสดและเงินฝาก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 51.1% ของสินทรัพย์ภาคครัวเรือนทั้งหมดนั้น เพิ่มขึ้น 2.8% สู่ระดับ 943 ล้านล้านเยน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 112.86-113.17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 113.11/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองสหรัฐ เดือนพฤศจิกายน (20/12) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหรัฐ ไตรมาส 3 (21/12) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (21/12) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอียู เดือนธันวาคม (21/12) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศฝรั่งเศส ไตรมาส 3 (22/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.5/-7.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.70/-4.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ