ธปท.-ก.ล.ต.จับตา”บิตคอยน์” ปปง.ร่วมวงหวั่นแชร์ลูกโซ่-โยงฟอกเงิน

ธปท.ตอกย้ำเข้มข้น ชี้ลงทุน “เงินดิจิทัล” มีความเสี่ยง ผนึก “ก.ล.ต.-ปปง.” เร่งสกัดปัญหาก่อนลามหนัก ทั้งใช้ “บิตคอยน์” ฟอกเงิน-แชร์ลูกโซ่-ทำผิดทาง กม. ยันสกุลเงินดิจิทัลไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงการกำกับดูแลเรื่องบิตคอยน์ หรือสกุลเงินดิจิทัลว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานดูแล ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้นำบิตคอยน์ มาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น ฟอกเงิน หรือมีการโฆษณาชวนเชื่อชักจูงให้เกิดการลงทุนเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ ซึ่งในขณะนี้ ธปท.ยังไม่เห็นผลกระทบที่ส่งผลต่อเชิงระบบ หรือเป็นวงกว้าง เพราะการใช้สกุลเงินดังกล่าวยังอยู่ในวงจำกัด

“ก่อนที่จะออกเกณฑ์ หรือกำกับดูแล เราก็ต้องดูว่าธุรกรรมมีจำนวนมากหรือไม่ และต้องพิจารณาว่า ตราสารเหล่านั้นมีความเสี่ยงสำคัญอะไร ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ต้องช่วยกันดูแล ทั้งมิติป้องกันไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือการฟอกเงิน หรือช่องทางจ่ายเงินที่ผิดกฎหมาย

ในช่วงหลังมีบางประเทศให้ความสำคัญมาก เวลาแลกเปลี่ยนจากสกุลเงินดิจิทัลเป็นสกุลเงินทั่วไป และที่สำคัญมากจะต้องรู้จักลูกค้า ที่ระบุได้ว่าใครเป็นคนทำธุรกรรม หรือใช้ KYC เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่ธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย” นายวิรไทกล่าว

ทั้งนี้ในเบื้องต้น ก่อนที่ผู้ลงทุนจะซื้อหรือลงทุนผ่านสกุลเงินดังกล่าวจะต้องเข้าใจก่อนว่า เป็นสินทรัพย์สำหรับการลงทุน ดังนั้นจะต้องระมัดระวังความเสี่ยงในการลงทุน และต้องแน่ใจว่าผลตอบแทนได้มาอย่างไร จะบริหารความเสี่ยงอย่างไร และสำคัญที่สุด ขณะนี้สกุลเงินดิจิทัลยังไม่ได้รับการรองรับจากธนาคารกลางทั่วโลก ในการนำมาใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่เป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนมากกว่า โดยมีความเสี่ยงหลายด้านที่จะต้องให้ความสำคัญ ทั้งในเรื่องราคาที่ผันผวนสูง

“นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเรื่องปฏิบัติการ เพราะสินทรัพย์ที่เป็นดิจิทัลมีความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี ที่อาจเกิดการถูกจารกรรมจากเทคโนโลยี หรือถูกแฮก ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียได้ในที่สุด สิ่งที่น่ากังวลคือมีประชาชนที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้แล้วถูกชักชวนเข้าไปลงทุน หลายครั้งถูกเชิญชวนมาให้ชวนเพื่อนมาลงทุน เหมือนลักษณะแชร์ลูกโซ่ โดยมาอ้างตราสาร ผลิตภัณฑ์ อ้างคริโตเคอเรนซี่ ว่าเป็นตราสารพื้นฐาน เรื่องนี้ต้องระมัดระวัง และให้ตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานกับหน่วยงานคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของ ธปทห.ได้ หรือกระทรวงการคลัง” นายวิรไทกล่าว