ระวังการอ่อนตัวในช่วงเดือน เม.ย.

หุ้น
คอลัมน์ : เติมความคิด พิชิตการลงทุน
ผู้เขียน : เอกภาวิน สุนทราภิชาติ
        บล.ไทยพาณิชย์

สวัสดีครับ ท่านนักลงทุน ในไตรมาส 1 ปี 2565 ผ่านมาแล้ว ซึ่งถือว่า SET (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) เริ่มต้นด้วยความผันผวนที่รุนแรง โดยเฉพาะในเดือน มี.ค. ซึ่งดัชนีผันผวนหนักและแกว่งตัวแรง โดยช่วงครึ่งแรกของเดือน ปัจจัยแวดล้อมเป็นไปในเชิงลบอย่างมาก

เริ่มตั้งแต่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่รุนแรงและยืดเยื้อ ทำให้สหรัฐและชาติยุโรปตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย ด้วยการระงับนำเข้าน้ำมัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งทะยานกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก สร้างความกังวลว่า Fed (ธนาคารกลางสหรัฐ) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาด นอกจากนี้ยังมีประเด็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนจนต้องล็อกดาวน์ เช่นเดียวกับการแพร่ระบาดในประเทศที่รุนแรง

ปัจจัยลบที่ถาโถมกดดันให้ SET Index ร่วงลงอย่างหนักไปทำจุดต่ำสุดที่ 1,580 จุด ต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือน ก่อนที่ครึ่งเดือนหลังจะดีดตัวฟื้นขึ้นจากแรงซื้อกลับหลังตลาดสะท้อนประเด็นลบไปมาก และความคาดหวังการเจรจาสันติภาพ และทิศทาง fund flow (เงินทุนเคลื่อนย้าย) ที่ไหลเข้า ยังเป็นปัจจัยหนุนหลัก โดยในเดือน มี.ค. ต่างชาติยังซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเป็นเดือนที่ 4 กว่า 3.0 หมื่นล้านบาท เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ซื้อสุทธิ 6.3 หมื่นล้านบาท

ด้านแนวโน้ม SET ล่าสุดขึ้นมาเคลื่อนไหวบริเวณ 1,700 จุด ซึ่งมอง upside เริ่มจำกัด โดยเฉพาะแถวบริเวณจุดสูงเดิมที่ 1,718 จุด เนื่องจากการฟื้นตัวยังเปราะบาง โดยมองว่าไม่มีปัจจัยหนุนมากพอที่จะช่วยให้ดัชนีปรับขึ้นต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันกลับมีปัจจัยกดดันที่ตลาดยังไม่รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนพลังงานที่สูง กระทบต่อเศรษฐกิจ และกำไรบริษัทจดทะเบียน และอัตราเงินเฟ้อในระดับสูง ทำให้บรรดาธนาคารกลางต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย และการเกิดภาวะ inverted yield curve ทำให้มองดัชนีในเดือน เม.ย. มีกรอบบนจำกัดที่ 1,700-1,718 จุด และมีแนวโน้มอ่อนตัว โดยมีกรอบล่างที่ 1,650 และ 1,620 จุด ตามลำดับ

ดังนั้น ภายใต้มุมมองการฟื้นตัวของตลาดที่ยังเปราะบาง โดยมีประเด็นต้องติดตามทั้งความคืบหน้าการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครน และ Fed ที่มีแนวโน้มว่าจะส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นเพื่อคุมเงินเฟ้อ รวมถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ในจีน ซึ่งถือเป็นประเทศใหญ่ที่ดำเนินมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด ทำให้กลยุทธ์ลงทุนจึงคงแนะนำ selective buy ในหุ้นเชิงรับที่มีคุณภาพ และ/หรือมีปัจจัยบวกเฉพาะ เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตลงทุน

โดยแนะนำหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่

1) KBANK คาดกำไร 1Q65 เติบโต 5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และ 13% เทียบไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) หลังสินเชื่อยังเติบโตดี ขณะที่ภายใต้ภาวะเงินเฟ้อสูง มองว่าความเสี่ยง downside ต่อคุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับจัดการได้ และ valuation ไม่แพง

2) CPALL แนวโน้มกำไร 1Q65 จะเติบโตทั้ง YOY และ QOQ จากยอดขายในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ (CVS) ที่ฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่กำไรปี 2565 คาดเติบโตเด่นที่ 73% YOY

3) BJC ในปี 2565 คาดกำไรเติบโต 28% YOY จากการฟื้นตัวของยอดขายและรายได้ค่าเช่าหลังภาครัฐมีแผนเดินหน้าเปิดประเทศชัดเจนขึ้น

4) ERW ผลประกอบการปี 2565 จะดีขึ้น ตามการท่องเที่ยวในประเทศมีการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น และได้อานิสงส์จากการปรับ COVID-19 เป็นโรคประจำถิ่น ทำให้ข้อจำกัดการเดินทางลดลง

5) GFPT ในปี 2565 คาดกำไรฟื้นตัวดีขึ้น แรงหนุนจากกำลังการผลิตใหม่และมีมาร์จิ้นดีขึ้น YOY เนื่องจากราคาเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าต้นทุนอาหารสัตว์ อีกทั้งยังมีการฟื้นตัวในตลาดส่งออกที่สำคัญ ๆ

แล้วพบกันใหม่ ในคอลัมน์ฉบับหน้า ด้วยรัก และหวังดี