ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง คาดเฟดปรับนโยบายการเงินแบบแข็งกร้าว

ภาพ : pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 4-8 เมษายน 2565

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้ยังเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปีในวันศุกร์ (8/4) ที่ระดับราว 99.90 หลังเมื่อวันศุกร์ก่อนหน้า (1/4) สหรัฐเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานเพิ่มขึ้นในเดือน มี.ค. ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า อัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.6% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7% ส่วนตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 431,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 490,000 ตำแหน่ง

โดยจากตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นการเพิ่มคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการคาดการณ์นี้ยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมหลังในคืนวันอังคาร (5/8) นางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แสดงความเห็นเมื่อวันอังคาร (5/4) ว่าเฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นระบบ และเร่งปรับลดขนาดงบดุลจากระดับสูงเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนหน้า พร้อมกับกล่าวว่า ขณะนี้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงเกินไป และการชะลอเงินเฟ้อถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญอย่างมาก

นอกจากนี้ในคืนวันพุธ (6/4) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือน มี.ค. โดยสามารถตีความว่า ทางกรรมการเฟดได้สนับสนุนให้ปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟดลงเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยจะเริ่มในการประชุมเดือน พ.ค.นี้ ทั้งนี้รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการเฟดหลายคนสนับสนุนให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% ในการประชุมเมื่อวันที่ 15-16 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ก็มีกรรมการเฟดอีกหลายคนที่มองว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงไม่แน่นอน จึงเห็นว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันดังกล่าว

อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% จำนวนหนึ่งครั้งหรือสองครั้งในการประชุมข้างหน้า หากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีประกาศระหว่างสัปดาห์ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 58.0 ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน และสูงกว่าระดับ 56.5 ในเดือน ก.พ. โดยดัชนี PMI ได้รับผลบวกจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในตลาด รวมทั้งการดีดตัวขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่, การจ้างงาน และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ในวันจันทร์ (4/4) ค่าเงินบาทเปิดตลาดในตอนเช้าที่ระดับ 33.46/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/4) ที่ระดับ 33.46/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทยังแกว่งตัวในกรอบแคบโดยเคลื่อนไหวระหว่าง 33.40-33.65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐตลอดสัปดาห์ ทั้งนี้ค่าเงินบาทได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทได้รับปัจจัยสนับสนุนจากข่าวการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมโควิด-19 ในการรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยในวันพฤหัสบดี (7/4) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่ กรมควบคุมโรค เตรียมเสนอปรับรูปแบบตรวจโควิดคนที่เดินทางเข้าไทย จากเดิมใช้วิธีตรวจ RT-PCR ในวันแรกที่เดินทางมาถึงไทย เปลี่ยนเป็นตรวจด้วย ATK แทน เพื่อความสบายใจของประชาชน

โดยหากที่ประชุมเห็นชอบจะมีการดำเนินการในเดือน พ.ค.นี้ สำหรับความเคลื่อนไหวตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศนั้น ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ผลสำรวจในเดือน มี.ค. 65 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 117.92 ดีขึ้นเล็กน้อยจาก 113.03 ในการสำรวจครั้งก่อน ยังอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”

นอกจากนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 104.79 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.73% จากตลาดคาด 5.7-6.3% และเพิ่มขึ้น 0.66% จากเดือน ก.พ. 65 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 65) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.75% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน มี.ค. 65 อยู่ที่ 102.43 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.00% และเพิ่มขึ้น 0.23% จากเดือน ก.พ. 65 พร้อมกันนี้ สนค.ยังได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี’65 ใหม่เป็นอยู่ที่ 4-5% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 0.7-2.4%

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.40-33.64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (1/4) ที่ระดับ 33.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (4/4) ที่ระดับ 1.103/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/4) ที่ระดับ 1.1053/54 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าตามดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น แม้สำนักงานสถิติแห่ชาติเยอรมนีจะเปิดเผยว่า ยอดการส่งออกและนำเข้าของเยอรมนีพุ่งขึ้นเกินคาดในเดือน ก.พ. เนื่องจากการค้าต่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครน

แต่อย่างไรก็ดี คาดว่าทั้งยอดนำเข้าและการส่งออกของเยอรมนีในเดือน มี.ค.จะถูกกระทบอย่างหนักจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ยังหาทางออกไม่ได้ โดยยอดส่งออกเดือน ก.พ.ของเยอรมนีเพิ่มขึ้น 6.4% ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.5% ส่วนยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 4.5% ในเดือน ก.พ.ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.4% นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังถูกกดดันอย่างต่อเนื่องหลังจากการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงไม่คืบหน้า ในขณะที่การสู้รบได้ย่างเข้าสู่เดือนที่ 2 โดยล่าสุดในช่วงกลางสัปดาห์ มีรายงานว่าสหรัฐและยุโรปวางแผนดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมแก่รัสเซียจากการสังหารพลเรือนยูเครน

ขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนออกเตือนว่า อาจพบผู้เสียชีวิตในพื้นที่ถูกรัสเซียยึดครองเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) มีมติถอดถอนรัสเซียออกจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแล้ว เพื่อตอบโต้ต่อการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน ซึ่งถือเป็น “การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นระบบ” ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.0847-1.1045 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (1/4) ที่ระดับ 1.0875/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (4/4) ที่ระดับ 122.61/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/4) ที่ระดับ 122.01/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่้องท่ามกลางความแตกต่างในการดำเนินนโยบายทางการเงินระหว่างธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กับธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) โดยเฟดมีข่าวอย่างต่อเนื่องว่าจะทำการขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวในปีนี้ กับเริ่มลดขนาดของงบดุลในระยะเวลาอันใกล้


ในทางตรงกันข้าม บีโอเจยังยืนกรานที่จะคงดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป นอกจากนี้ค่าเงินเยนยังถูกกดดันหลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นประจำปี 2565 โดยคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะโต 2.4% ในปีนี้ ลดลงจากที่ก่อนหน้านี้คาดการณ์ไว้ว่าจะโต 3.3% เนื่องจากมองว่าญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนอันเป็นผลจากการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 122.26-124.22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (1/4) ที่ระดับ 124.06/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ