โมเดลไทย High-income ด้วย S-curve Plus

พนักงาน
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยกัน

ผู้เขียน : ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร Auckland University of Technology
        ดร.นครินทร์ อมเรศ ธนาคารแห่งประเทศไทย
        อลงกรณ์ ฉลาดสุข สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
        พรชนก เทพขาม ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ในด้านพัฒนาการเศรษฐกิจไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ตามเกณฑ์ของธนาคารโลกที่ใช้รายได้ประชาชาติต่อหัวเป็นมาตรวัด โดยคำนึงถึงการเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในแต่ละช่วงเวลา การตั้งเป้าหมายก้าวไปเป็นประเทศรายได้สูง นอกจากจะต้องวิ่งแข่งกับตัวเอง ยังต้องหันไปดูสถานการณ์ของคู่แข่ง

แต่การลอกการบ้านตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการยกระดับฐานะแล้ว ก็อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีนักเนื่องจากบริบททางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศในแต่ละห้วงเวลาย่อมมีความแตกต่างกัน รูปแบบการพัฒนาที่ได้ผลในยุคหนึ่ง อาจล้าสมัยและใช้ไม่ได้ในวันนี้ตามแต่ปัจจัยจะเอื้ออำนวย

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยเรื่อง “นโยบายและมาตรการเพื่อรองรับและป้องกันผลกระทบของ COVID-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน” ซึ่งครอบคลุมกว้างขวางไปถึงการพัฒนาให้ตลาดแรงงานไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดไปสู่การยกระดับเป็นประเทศรายได้สูง

คณะผู้วิจัยจึงเสนอร่างโมเดลไทย high-income ด้วย s-Curve plus เพื่อเป็นตัวอย่างของโครงสร้างแรงงานไทยหากเป็นประเทศรายได้สูงซึ่งประมาณการในเบื้องต้นพบว่าต้องเพิ่มรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงถึงเกือบร้อยละ 80 จึงจะยกให้พ้นฐานะรายได้ปานกลาง โดยหากคำนวณจากฐานรายได้ในโครงสร้างก่อน COVID-19 (โดยนครินทร์, นันทนิตย์ และ มณฑลี 2562) จะเทียบได้กับการยกระดับรายได้คนที่มีงานทำกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นโจทย์ที่ท้าทายและอาจทำให้สำเร็จไม่ได้ภายใต้กรอบการพัฒนาเดิม โดยอาจจำแนกเป้าหมายการพัฒนาแรงงานออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1) เพิ่มแรงงานทักษะสูง 1 ล้านคน ในกลุ่ม STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) ทั้งจากการรับแรงงานข้ามชาติทักษะสูง และการยกระดับแรงงานตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

2) ยกระดับทักษะลูกจ้าง 8 ล้านคน ในกลุ่มที่ไม่ได้จบการศึกษาสาย STEM และทำงานในระดับปฏิบัติการที่ยังไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้ก้าวหน้าในสายอาชีพทั้งในสาขาเศรษฐกิจเดิมหรือย้ายข้ามไปทำงานในสาขาเศรษฐกิจใหม่

3) สร้างศักยภาพผู้ประกอบการ 11 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่อยู่นอกระบบที่มีรายได้น้อยกว่าธุรกิจในระบบที่มีพื้นฐานใกล้เคียงกัน อาทิ การศึกษา อาชีพ ครอบครัว

นอกจากในมุมแรงงานแล้ว การปรับโครงสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับรายได้ ผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรม green & digital s-Curve plus ซึ่งต่อยอดจากอุตสาหกรรม s-Curve ในปัจจุบัน โดยอาศัยโอกาสทางธุรกิจที่โลกก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัล แรงงานที่มีทักษะสูงเป็นส่วนสำคัญในระบบนิเวศอุตสาหกรรมนี้ โดยไม่เพียงสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเหมือนในอดีตเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญตลอดห่วงโซ่มูลค่า (value chain) ของแต่ละกิจกรรมทั้งภายในและระหว่างสาขาเศรษฐกิจ เพื่อให้แรงงานสามารถพัฒนาตัวเองเป็นผู้ประกอบการและยกระดับรายได้ให้สูงขึ้น

ยกตัวอย่าง เช่น อุตสาหกรรม green energy ที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจะสร้างอาชีพทดแทนได้อีกหลายล้านตำแหน่ง โดยหากวิเคราะห์แนวโน้มการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมเดิม ๆ จะลดลง แต่ตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นใหม่ คือ ตำแหน่งงานอื่นในห่วงโซ่มูลค่า เช่น งานในศูนย์กระจายสินค้า ธุรกิจการให้บริการก่อนและหลังการขาย กิจกรรมเหล่านี้ช่วยเติมเต็มระบบนิเวศอุตสาหกรรมให้มีความสมบูรณ์และสร้างความเป็นไปได้ในการก้าวไปสู่ประเทศรายได้สูง บนเงื่อนไขหลักว่าผู้ประกอบการและแรงงานสามารถปรับตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็วและรุนแรงได้

แนวทางสำคัญที่จะเอื้อให้เกิดการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างราบรื่น เพื่อรองรับการพัฒนาตามโมเดลไทย high-income ด้วย s-Curve plus นี้ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยมีตัวช่วยสำคัญที่เรียกได้ว่าเป็น game changer คือการออกแบบนโยบายเพื่อจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสมโดยใช้ประโยชน์สูงสุดจากโครงสร้างทะเบียนแรงงานที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงฐานข้อมูลทะเบียนและแบบสำรวจต่าง ๆ ซึ่งมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ประเทศเผชิญกับวิกฤต COVID-19 ทั้งในด้านระบบเชิงเทคนิค ธรรมาภิบาลข้อมูล และกลไกเชิงสถาบัน

ขณะที่มีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการขององค์กรต่าง ๆ เพื่อรองรับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป จนทำให้พัฒนาการด้านดิจิทัลของเศรษฐกิจการเงินไทยเติบโตไปมากในระยะเวลาสั้น ๆ ควบคู่ไปกับกระแสการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG

โดยสรุปแล้ว เส้นทางการเดินหน้าของไทยไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เป็นเส้นทางที่แม้จะดูเหมือนอยู่อีกไกลและต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างยิ่งยวด จนดูเหมือนจะไม่อาจทำให้เกิดขึ้นได้จริง แต่การที่สามารถระบุปัญหาได้อย่างชัดเจนในแต่ละจุด มีเครื่องมือในการติดตามความคืบหน้า ตลอดจนมองเห็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จแม้จะเป็นเพียงในกลุ่มเล็ก ๆ ก็น่าจะเพียงพอให้พวกเราทุกคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงก่อนที่ประเทศจะเสียโอกาสในการพัฒนาและต้องติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปอีกนาน


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด