BBLAM ออก SSF 2 กองทุนใหม่ลงทุนเมกะเทรนด์ระยะยาว 21-27 เม.ย.

วศิน วัฒนวรกิจกุล
วศิน วัฒนวรกิจกุล

กองทุนบัวหลวง หรือ BBLAM ออก 2 กองทุน SSF ใหม่ B-INNOTECHSSF และ B-ASIASSF เน้นลงทุนในเมกะเทรนด์ระยะยาว เตรียมเสนอขายไอพีโอ (IPO) พร้อมกัน 21-27 เม.ย.นี้

วันที่ 20 เมษายน 2565 นายวศิน วัฒนวรกิจกุล กรรมการผู้จัดการ Head of Business Distribution บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ BBLAM เปิดเผยว่า BBLAM ยังคงเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดนำกองทุนต่างประเทศที่มีธีมการลงทุนที่นักลงทุนให้ความสนใจมากมาเสนอขายในรูปแบบกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) โดยเตรียมเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยีเพื่อการออม (B-INNOTECHSSF) และกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเอเชียเพื่อการออม (B-ASIASSF) ระหว่างวันที่ 21-27 เมษายน 2565

“การลงทุนในเมกะเทรนด์ระยะยาวนั้น เป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้ผู้ลงทุนไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ แต่ก็ต้องประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญ คือ เงิน ผลตอบแทน และเวลา ซึ่งเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ยิ่งเราลงทุนระยะยาวเท่าไหร่ โอกาสที่ผลตอบแทนจะเพิ่มได้ ก็ยิ่งมีมากขึ้น และถ้าลงทุนผ่านกองทุนประหยัดภาษี ก็เหมือนได้แต้มต่อเพิ่มขึ้นอีก ซึ่ง BBLAM คัดมาให้แล้วว่ากลุ่มเทคโนโลยีและเอเชีย คือ เมกะเทรนด์ที่ลงทุนระยะยาวได้ จึงนำเสนอเป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้ผู้ลงทุนในรูปแบบกองทุน SSF” นายวศินกล่าว

สำหรับ B-INNOTECHSSF จะไปลงทุนในกองทุน B-INNOTECH เพียงกองทุนเดียว ซึ่ง B-INNOTECH ไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศที่ลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่มีความสามารถในการแข่งขัน และปรับราคาขึ้นได้ ทำให้ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อค่อนข้างจำกัด ขณะเดียวกันก็ขยายโอกาสลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีขนาดกลางและเล็ก ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง แต่ถูกเทขายลงมาจนมูลค่าน่าสนใจ โดยเทคโนโลยีที่กองทุนต่างประเทศให้น้ำหนักลงทุนในช่วงนี้คือ คลาวด์ และเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ส่วนตัวอย่างหุ้นที่กองทุนต่างประเทศลงทุนอยู่ ได้แก่ Microsoft ผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลก, Samsung Electronics ผู้ผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ สัญชาติเกาหลีใต้ และ VISA ผู้ให้บริการการชำระเงิน เป็นต้น

ส่วน B-ASIASSF จะลงทุนในกองทุน B-ASIA เพียงกองทุนเดียว โดย B-ASIA ไปลงทุนผ่านกองทุนต่างประเทศที่ลงทุนในหุ้นได้ทั่วภูมิภาคเอเชียแต่ไม่ได้ลงทุนในญี่ปุ่น โดยลงทุนได้หลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งหุ้นเอเชียน่าสนใจ เนื่องจาก กำไรของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าหุ้นยังไม่แพง และบางประเทศ มูลค่าหุ้นน่าสนใจมาก เช่น จีน อินโดนีเซีย และไทย เนื่องจากเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนตัวอย่างหุ้นที่กองทุนต่างประเทศลงทุน ได้แก่ TSMC ผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ Tencent Holdings บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน Ming Yang Smart Energy Group ผู้ผลิตกังหันลมที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่ของจีน CNOOC บริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีน และ Bank Negara Indonesia Persero Tbk ธนาคารของรัฐในอินโดนีเซีย

“หากผู้ลงทุนรับความเสี่ยงได้สูง จากความผันผวนของหุ้น และความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ทั้ง B-INNOTECHSSF และ B-ASIASSF ก็เป็นทางเลือกที่จะตอบโจทย์การลงทุนระยะยาว เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี จากการลงทุนในธีมที่ใช่ สไตล์ที่ชอบได้” นายวศินกล่าว