“ธนารักษ์” ปั๊มรายได้ 7.4 พันล. เคลียร์ 8 โปรเจ็กต์ที่ราชฯปี’61

แฟ้มภาพ

ปีงบประมาณ 2561 ธนารักษ์ปั้นรายได้นำส่งคลัง 7.4 พันล้านบาท พร้อมผลักดันลงทุน 8 โครงการมูลค่า 9 หมื่นล้านบาท เคลียร์โครงการมหากาพย์ “หมอชิต-ร้อยชักสาม” เดินหน้าสร้าง “บ้านคนไทย” หลังละไม่เกิน 4.5 แสนบาท หนุนผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัย นำร่อง 8 จังหวัด

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2561 นี้ กรมธนารักษ์มีเป้าหมายนำส่งรายได้เข้าคลัง 7,400 ล้านบาท จากในปีงบประมาณ 2560 ที่นำส่งไป 9,000 ล้านบาท เนื่องจากปีที่ผ่านมา มีรายได้จากค่าเช่าที่ราชพัสดุของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย เข้ามาเป็นกรณีพิเศษ 2,500 ล้านบาท

พชร อนันตศิลป์

โดยในปีงบประมาณ 2561 กรมธนารักษ์มีแผนดำเนินโครงการด้านที่ราชพัสดุหลายโครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งหลายโครงการคั่งค้างมาเป็นระยะเวลานานถึง 20 ปี

“โครงการที่เป็นมหากาพย์ 20 ปีนี้ น่าจะทำเสร็จ หรือเกือบเสร็จทั้งหมดในปี 2561 นี้ และกรมธนารักษ์คาดว่าปีนี้เราจะมีส่วนร่วมในการระดมเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 8-9 หมื่นล้านบาท” นายพชรกล่าว

นางสาวอมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีด้านที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาด้านที่ราชพัสดุมีด้วยกัน 8 โครงการหลัก ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาสถานีขนส่งหมอชิต มูลค่าลงทุนไม่ต่ำกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อัยการตรวจร่างสัญญาเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเดินหน้าสัญญาที่ค้างมานาน 20 ปี

2.โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ตั้งเป้าหมายเปิดประมูล 3 พื้นที่ (จังหวัด) ในช่วงเดือน ม.ค. 2561 นี้ คือ ตาก กาญจนบุรี และนครพนม 3.โครงการศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่มีมูลค่าลงทุนราว 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการต่อสัญญากับเอกชนรายเดิม โดยอยู่ระหว่างอัยการตรวจร่างสัญญา

4.โครงการโรงภาษีร้อยชักสาม มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างพิจารณาร่างสัญญา หลังเจรจากับเอกชนคู่สัญญาค่อนข้างลงตัวแล้ว โดยมีการขยับอายุสัญญาให้แก่เอกชน ขณะที่ภาครัฐก็ไม่เสียเปรียบในแง่ผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับ 5.โครงการหอชมเมือง มูลค่าลงทุน 4,600 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาขอบเขตร่างสัญญาต่าง ๆ ให้รอบคอบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างร่างสัญญาส่งให้อัยการตรวจ

6.การต่อสัญญาเช่าที่ราชพัสดุของบริษัทไทยออยล์ ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างประชุมคณะกรรมการตามมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งปัจจุบันเจรจาผลตอบแทนจบแล้ว รัฐจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าที่ ครม.เห็นชอบขั้นต่ำเอาไว้ (ขั้นต่ำ 9,200 ล้านบาท/ปี)

“ในกรณีไทยออยล์ แม้สัญญาเก่าจะหมดปี 2565 แต่ปี 2561 กรมธนารักษ์อาจจะมีรายได้เกิดขึ้นทันที จากการจัมป์สัญญา เพราะการเซ็นสัญญาเบื้องต้น เราอาจจะเก็บค่าธรรมเนียมมาก่อน ซึ่งอาจจะ 2,000-3,000 ล้านบาท” นางสาวอมรรัตน์กล่าว

7.โครงการบ้านคนไทย ที่จะนำร่องทำบ้านให้ผู้มีรายได้น้อย ใน 8 จังหวัด อาทิ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ เพชรบุรี (2 แปลง) เป็นต้น จำนวน 2,600 ยูนิต ซึ่งราคาบ้านจะอยู่หลังละ 3.5-4.5 แสนบาท และ 8.โครงการก่อสร้างศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (แจ้งวัฒนะ) โซน C ที่ทางบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จะเป็นผู้ดำเนินการ มูลค่าลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาก่อน จากนั้นจะเสนอ ครม.เห็นชอบ เพื่อดำเนินการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชั่น) เพื่อระดมเงินลงทุนต่อไป

นางสาวอมรรัตน์กล่าวด้วยว่า สำหรับการปรับฐานค่าเช่าที่ราชพัสดุ ที่ใช้ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) มาคำนวณ จะใช้เฉพาะกับผู้เช่ารายใหม่เท่านั้น ส่วนผู้เช่ารายเดิมจะมีการปรับค่าเช่า 15% ทุก 5 ปี (เฉลี่ยปีละ 3%) แต่จะไม่ได้นำ ROA มาใช้กับรายเก่า