3 คำถามชวนรู้จัก การจ่ายเงินด้วย QR code

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ ธนาคารกสิกรไทย

ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกต่างมุ่งหน้าสู่สังคมไร้เงินสด (cashless society) โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีสัดส่วนมูลค่าการชำระเงินในรูปแบบที่ไม่ต้องใช้เงินสดมากกว่า 70% จากมูลค่าการชำระเงินรวมทั้งระบบ ในขณะที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าการเป็นสังคมไร้เงินสดนั้นดีอย่างไร ดังนั้นผมขออธิบายให้เข้าใจมากขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือ

ฝั่งผู้ประกอบการ จะได้ประโยชน์จากการป้องกันการทุจริตของพนักงาน ลดความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรม ลดต้นทุนจากการเบิกถอนเงินสดในแต่ละครั้ง หมดปัญหาเรื่องไม่มีเงินทอน หรือทอนเงินผิดพลาด ช่วยให้การสรุปยอดขายมีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการทำธุรกรรมซื้อขาย และเอื้อประโยชน์ในการต่อยอดกลยุทธ์ทางธุรกิจ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากข้อมูลที่มีการจัดเก็บละเอียดขึ้น

ส่วนทางฝั่งผู้บริโภค ก็สามารถเลือกช่องทางการชำระเงินได้หลากหลาย รวมถึงจะได้รับความสะดวกในการชำระเงินมากขึ้น โดยเร็ว ๆ นี้เราอาจไม่จำเป็นต้องพกกระเป๋าสตางค์กันแล้วก็ได้ เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็สามารถตอบโจทย์การใช้จ่ายได้รอบด้าน และเมื่อไม่นานมานี้เราคงได้ยินเรื่องรูปแบบการชำระเงินทางเลือกใหม่ โดยใช้คิวอาร์โค้ด (QR code) ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกยิ่งขึ้นให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค แต่หลายคนก็มีคำถามและข้อสงสัยมากมาย วันนี้ผมขอช่วยคลายข้อสงสัยกับ 3 คำถาม ดังต่อไปนี้

1.คิวอาร์โค้ดแตกต่างจากพร้อมเพย์อย่างไร

คิวอาร์โค้ดเป็นสัญลักษณ์แสดงตัวตนในรูปแบบที่เป็นรูปภาพสี่เหลี่ยมสีขาวดำ มีหน้าที่คล้ายบัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือเลขบัญชีในการโอนเงิน โดยผู้ที่ผูกบัญชีพร้อมเพย์ก็สามารถสร้างคิวอาร์โค้ดแทนการบอกเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์ได้เช่นกัน เราสามารถใช้คิวอาร์โค้ดในการรับเงินหรือจ่ายเงินด้วยการสแกนข้อมูลจากรูปภาพสี่เหลี่ยมสีขาวดำดังกล่าวด้วยสมาร์ทโฟน หรือเครื่องรูดบัตร (EDC) ที่มีฟังก์ชั่นการสแกนคิวอาร์โค้ด ก็สามารถรับเงินหรือจ่ายเงินไปยังบัญชีที่มีการสร้างคิวอาร์โค้ดนั้นเอาไว้ ซึ่งแตกต่างจากพร้อมเพย์ที่เป็นเพียงตัวกลางในกระบวนการชำระเงินเท่านั้น

2.คิวอาร์โค้ดปลอดภัยหรือไม่

คิวอาร์โค้ดที่ใช้ในประเทศไทยเป็นฟอร์แมตที่มีมาตรฐานระดับสากล มีความซับซ้อนสูง จึงมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง เพราะปลอมแปลงได้ยาก แต่มักจะมีความเสี่ยงระหว่างการใช้งานมากกว่า เช่น มิจฉาชีพนำคิวอาร์โค้ดอื่นมาแปะทับคิวอาร์โค้ดของร้านค้า ทำให้ลูกค้าชำระเงินไปผิดบัญชี เป็นต้น ดังนั้นในการใช้งานคิวอาร์โค้ด ร้านค้าควรหมั่นตรวจสอบคิวอาร์โค้ดของร้านตน ส่วนลูกค้าก็ควรตรวจสอบความถูกต้องของชื่อบัญชีผู้รับ/ชื่อร้านค้าและยอดเงินก่อนกดยืนยันทุกครั้ง

3.คิวอาร์โค้ดดีกว่ารูปแบบการชำระเงินอื่นอย่างไร

การชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อขายสินค้าและบริการในส่วนของการชำระเงินให้เป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยมีอุปกรณ์เพียงแค่เครื่องมือสื่อสาร เช่น สมาร์ทโฟน ทั้งฝั่งร้านค้าและลูกค้าก็สามารถทำการชำระเงินได้ ซึ่งฝั่งร้านค้าไม่ต้องมาคอยแจ้งเลขบัญชีของตนแก่ลูกค้า ส่วนฝั่งลูกค้าก็ไม่ต้องแสดงบัตรเครดิต/เดบิตตัวจริง ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดการรั่วไหลของข้อมูลบนบัตรได้ รวมถึงยังลดความเสี่ยงจากการผิดพลาดในการกรอกเลขที่บัญชี/รหัสพร้อมเพย์ของร้านค้า กรณีการชำระเงินผ่านการโอนเงินด้วยเช่นกัน

ระบบการชำระเงินดิจิทัลกำลังเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ ตามแนวทางนโยบายที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่สังคมไร้เงินสด ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่โน้มเอียงเข้าสู่ระบบออนไลน์อย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการจึงควรเร่งปรับตัวให้ทันต่อกระแสดังกล่าว เพื่อชิงความได้เปรียบทางธุรกิจ ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้น