เบิกจ่ายงบฯฉลุย ลงทุนรัฐพระเอกขับเคลื่อน ศก.

อีกเพียงครึ่งเดือนจะครบไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมปีนี้ไว้ที่ “ไม่น้อยกว่า 96%” คิดเป็นวงเงิน 2.784 ล้านล้านบาท และเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนไว้ที่ “ไม่น้อยกว่า 88%” คิดเป็นวงเงินกว่า 5.8 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายรายไตรมาส แบ่งเป็น ไตรมาส 1 (ต.ค.-ธ.ค. 2560) เบิกจ่ายภาพรวม 30.29% และเบิกจ่ายลงทุน 21.11%, ไตรมาส 2 (ม.ค.-มี.ค. 2561) เบิกจ่ายภาพรวมอีก 22% และเบิกจ่ายลงทุน 22%, ไตรมาส 3 (เม.ย.-มิ.ย.2561) เบิกจ่ายภาพรวมอีก 22% และเบิกจ่ายลงทุน 22% และไตรมาส 4 (ก.ค.-ก.ย. 2561) เบิกจ่ายภาพรวมอีก 21.71% และเบิกจ่ายลงทุน 22.89%

เมื่อดูข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ จนถึง ณ วันที่ 15 ธ.ค. 2560 พบว่า มีการเบิกจ่ายรวมแล้ว 23.25% เป็นเงินกว่า 4.89 แสนล้านบาท และเบิกจ่ายลงทุน 11.22% คิดเป็น 5.37 หมื่นล้านบาท โดยหน่วยงานระดับกระทรวงที่เบิกจ่ายได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กระทรวงแรงงาน 88.49%, หน่วยงานของศาล 47.52%, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 44.34%, หน่วยงานอิสระของรัฐ 33.66% และกระทรวงการคลัง 33.61% ส่วนหน่วยงานที่เบิกจ่ายได้ต่ำสุด 5 อันดับ คือ กระทรวงคมนาคม 8.83%, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 10.40% เกษตรและสหกรณ์ 11.62% การท่องเที่ยวและกีฬา 11.84% และอุตสาหกรรม 12.15%

เมื่อพิจารณาเฉพาะการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน พบว่า สูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ 51.44%, หน่วยงานอิสระของรัฐ 45.69%, หน่วยงานของศาล 45.61%, กระทรวงการคลัง 39.67% และกระทรวงศึกษาธิการ 29.65% ขณะที่ต่ำสุด 5 อันดับ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม 0.76%, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1.60%, หน่วยงานของรัฐสภา 1.67%, กระทรวงการต่างประเทศ 4.15% และกระทรวงยุติธรรม 4.61%

“จุมพล ริมสาคร” รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน ระบุว่า การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนที่บางส่วนยังล่าช้านั้นเกิดจากความไม่พร้อมของโครงการ เช่น ผลศึกษาโครงการช้า ทีโออาร์ไม่ได้ข้อยุติ เป็นต้น ไม่ได้เป็นผลกระทบจาก พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

ขณะที่ “ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร” ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การเบิกจ่ายภาครัฐปีนี้ รัฐบาลมีมาตรการเร่งรัดเช่นเดียวกับที่ทำใน 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้วได้ผลเป็นอย่างดี เช่น รายจ่ายอบรมสัมมนา ต้องเบิกจ่าย 50% ในไตรมาสแรก รายจ่ายลงทุนปีเดียวต้องเร่งก่อหนี้ให้เสร็จในไตรมาสแรก ส่วนรายจ่ายลงทุนที่วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องก่อหนี้ให้เสร็จในไตรมาส 2 เป็นต้น

“การเบิกจ่ายจนถึงวันที่ 15 ธ.ค. ภาพรวมก็ทำได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา แม้รายจ่ายลงทุนอาจจะยังต่ำกว่าเป้า แต่ก็ทำได้มากกว่าในอดีต ถ้าดูงบฯ ลงทุนมีการก่อหนี้ผูกพันแล้ว 35.4% เกิน 1 ใน 3 แล้ว ถือว่าดีเลย”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา “การลงทุนเอกชน” เป็นเพียงเครื่องยนต์เดียวของเศรษฐกิจไทยที่ยัง “ไม่เดิน” ดังนั้น การลงทุนภาครัฐจึงต้องเป็นตัวนำ โดยช่วงปี 2560 นี้หลายโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานเริ่มเดินหน้าได้ อาทิ รถไฟฟ้าสีต่าง ๆ ที่เริ่มก่อสร้างแล้ว การขยายสนามบินสุวรรณภูมิก็เริ่มแล้ว ส่วนรถไฟทางคู่ยังเดินหน้าไม่ครบทุกสาย นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่กำลังก้าวหน้าไปได้ต่อเนื่อง

“ปีหน้า โครงการที่เริ่มลงทุนแล้ว ก็จะมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น อย่างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯที่มีการก่อสร้างแล้ว ซึ่งปีหน้า การลงทุนจะเติบโตกว่าปีนี้ เพราะเหลือเครื่องยนต์สุดท้ายแล้วที่ยังไม่เดิน โดยตอนนี้สัญญาณลงทุนเอกชนก็ดีขึ้น จากการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นมา 3-4 เดือนติดต่อกันแล้ว รวมถึงการใช้กำลังการผลิตที่หลายสาขาเริ่มเต็ม โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับส่งออก คือ ยานยนต์กับอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนการใช้กำลังการผลิตในภาพรวมก็เพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ที่ 62% ในไตรมาส 3 แต่ยานยนต์อยู่ที่ 84.8% ปิโตรเลียมน้ำมัน 71.8% เคมีภัณฑ์ 72.5%”

ฟาก “จาตุรงค์ จันทรังษ์” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า กนง. ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2560 และปี 2561 ยังได้รับแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งแม้ว่าโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐจะชะลอออกไปบ้าง แต่ยังเห็นการลงทุนของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“ส่วนหนึ่งการลงทุนภาคเอกชน ยังรอPPP (การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน) ที่เกี่ยวโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เลื่อนออกไป แต่คิดว่าปีหน้าถ้าภาครัฐลงทุนได้ดี ก็จะช่วยดึงการลงทุนเอกชนให้ดีตามได้”

ล่าสุด กนง. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจะเติบโต 3.9% จากเดิมคาดแค่ 3.8% และในการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2560 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ


สรุปแล้ว ปี 2561 “ภาครัฐ” ยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ขาดไม่ได้อีกปี