เงินบาทอ่อนค่า ท่ามกลางความกังวลต่อเฟดในการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ภาพ : pixabay

ค่าเงินบาทอ่อนค่า ท่ามกลางความกังวลต่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

วันที่ 28 เมษายน 2565 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงาน สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตรา ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/4) ที่ระดับ 34.39/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (27/4) ที่ระดับ 34.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง จากทิศทางการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยง อันเนื่องจากความกังวลในหลายด้าน เช่น การประกาศล็อกดาวน์ของจีนจากการระบาดโควิด ความกังวลต่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้นักลงทุนยังคงเข้าถือครองเงินดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ทั้งนี้นักลงทุนจับตาประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 3-4 พ.ค. ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ตลาดยังกังวลว่าเฟดมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงขึ้นกว่าเดิมหลังจากเดือน พ.ค.เป็นต้นไป

โดยอาจจะปรับขึ้นอีก 0.75% ในรอบการประชุมเดือนมิถุนายน เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.9% ก่อนการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า

ในส่วนของตัวเลขทางเศรษฐกิจนั้น สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผย ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ลดลง 1.2% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 103.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 และปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.36-34.48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.43/45 บาท/ดอลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี (28/) ที่ระดับ 1.0538/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (27/4) ที่ระดับ 1.0615/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งปัญหาสำคัญที่สุดในขณะนี้คือ การขนส่งสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร เข้ามาซ้ำเติมปัญหาด้านโลจิสติกส์ทั่วโลก

โดยเฉพาะกรณี สายการเดินเรือหลักและท่าเรือสำคัญในยุโรปงบให้บริการสินค้าเข้า-ออกรัสเซีย และตรวจค้นสินค้าอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดสินค้าตกค้างที่ท่าเรือในยุโรปจำนวนมาก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0479-1.0564 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0525/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/4) ที่ระดับ 128.79/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (27/4) ที่ระดับ 127.85/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultraloose Monetary Policy) ตามคาด ซึ่งรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ประมาณ 0%

โดยคณะกรรมการ BOJ ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุนในปี 2565 ลงเหลือ 2.9% จากระดับ 3.8% และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ดัชนีราคาเงินเยนทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นเวลานานของ BOJ และการเริ่มใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 128.35-131.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 130.60/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีสหรัฐ (28/4) จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานสหรัฐ (28/4) จีดีพีเยอรมัน (29/4) จีดีพียูโรโซน (29/4) และตัวเลขเงินเฟ้อยุโรป (29/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.4/0.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.0/+2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ